วันที่ 5 มิถุนายน 2567 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บ่อกุ้ง ในอำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง โดยได้สอบถามนางนวพรรษ คลังทิพรัตน์ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เล่าว่า วันนี้ทางแพได้เข้ามาตรวจคุณภาพกุ้ง เป็นกุ้งไซส์ 58 – 60 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม น้ำหนักรวมกว่า 10 ตัน โดยแพตกลงให้ราคาหน้าบ่อ กิโลกรัมละ 138 บาท แต่นางนวพรรษ บอกว่า ต้นทุนอยู่ที่กิโลกรัมละ 140 -145 บาทแล้ว
โดยกำหนดนัดจับกุ้งในวันที่ 10 มิถุนายนนี้ ระหว่างรอแพมาจับประมาณ 10 วัน เกษตรกรต้องเลี้ยงกุ้งต่อ ด้วยต้นทุนสูง ตกค่าใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 2 หมื่นบาท และกว่าจะถึงวับจับ ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะสูงถึงกว่า 2 แสนบาท ทำให้เกษตรกรต้องคนเป็นคนแบกรับภาระ และทางแพไม่ได้ชดเชยให้ รวมทั้งแพ หรือห้องเย็น เป็นผู้กำหนดราคา ด้านเกษตรกรผู้เลี้ยงจึงไม่สามารถต่อรองได้ ทำได้แค่ปรับลดการเลี้ยง จากเดิม 4 บ่อ เหลือแค่ 2 บ่อเท่านั้น
อีกทั้งยังมีตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ในจังหวัดสงขลา ที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากราคากุ้งที่ตกต่ำผิดปกติ เผยว่า เกษตรกรได้ตั้งข้อสังเกต หลังเปิดให้นำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ ทำให้ห่วงโซ่การเลี้ยงกุ้งในตลาดค้ากุ้งผิดเพี้ยนไปมาก เพราะไม่เคยมีปีไหนที่ราคาแตกต่างกันขนาดนี้ ทั้งๆ ที่จังหวัดสงขลามีห้องเย็นเยอะมาก แต่ไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรห้องเย็นจึงไม่รับซื้อกุ้ง จึงฝากให้ผู้เกี่ยวข้องออกมาชี้แจง เพราะการเปิดให้นำเข้ากุ้งมา ทำให้ผู้เลี้ยงในประเทศได้รับผลกระทบ
เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ขอให้รัฐบาลหาแนวทางแก้ปัญหาและแสดงฝีมือเชิงเศรษฐกิจ ทำให้ราคากุ้งขยับขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้เลี้ยงกุ้งทั้งหมด โดยไม่ควรใช้วิธีจ่ายเงินชดเชย หรือ ดูดซับกุ้งออกจากตลาด เพราะไม่ได้ช่วยเหลือเกษตรกร แต่เป็นการเปิดช่องให้นักการเมือง และคนบางกลุ่มที่ไม่ได้เลี้ยงกุ้งได้ประโยชน์จากการชดเชย