คัดลอก URL แล้ว
กรมราชทัณฑ์ แถลง “บุ้ง ทะลุวัง” เสียชีวิต ยันหมอช่วยยื้อเต็มที่ – รมว.ยุติธรรม สั่งตั้ง กก.สอบข้อเท็จจริง

กรมราชทัณฑ์ แถลง “บุ้ง ทะลุวัง” เสียชีวิต ยันหมอช่วยยื้อเต็มที่ – รมว.ยุติธรรม สั่งตั้ง กก.สอบข้อเท็จจริง

วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 กรมราชทัณฑ์ออกหนังสือแถลงข่าว กรณีการเสียชีวิตของ “บุ้ง เนติพร” หรือ “บุ้ง ทะลุวัง” โดยระบุว่า ด้วยทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้รายงานว่า น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง มีอาการหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน ในช่วงเช้าวันที่ 14 พ.ค. 67 โดยทางทีมแพทย์ได้ทำการกู้ชีพ พร้อมนวดหัวใจ จากนั้นส่งตัวออกรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งทีมแพทย์ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ได้พยายามกู้ชีวิตผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถ ตั้งแต่เวลา 06.20 – 11.22 น. ร่างกายผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา และถึงแก่กรรมอย่างสงบในเวลา 11.22 น. กรมราชทัณฑ์ จึงขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิต

ทั้งนี้กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า หลังจากที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้รับตัวน.ส.เนติพร จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2567 น.ส.เนติพร ได้รับประทานอาหารและน้ำปกติ ซึ่งแพทย์และพยาบาลได้ทำการรักษาดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง แต่ยังมีอาการขาอ่อนแรงและบวมเล็กน้อย ผลเลือดมีภาวะโลหิตจางเล็กน้อย เกลือแร่ต่ำ โดย น.ส.นางสาวเนติพร ปฏิเสธการรับประทานเกลือแร่ และวิตามินบำรุงเลือด จนเกิดอาการดังกล่าวและเสียชีวิตในวันนี้

กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า นายกรัฐมนตรี และ รมว.ยุติธรรม มีข้อห่วงใยในเรื่องนี้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม จึงเห็นควรให้ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ทำการชันสูตร เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง ซึ่งจะต้องรอผลการชันสูตร นอกจากนี้ รมว.ยุติธรรม ได้มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แล้ว

นอกจากนี้ ทางด้าน โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ก็ได้ออกแถลงการณ์ ชี้แจงการเข้ารับการรักษาของนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม (บุ้ง ทะลุวัง) ว่า วันนี้ (14 พฤษภาคม 2567) เวลา 09.30 น. โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รับตัวนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม (บุ้ง ทะลุวัง) จากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ด้วยอาการหมดสติ ไม่มีสัญญาณชีพ และได้รับการทำ CPR เพื่อฟื้นคืนชีพจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ตั้งแต่เวลา 06.23 น. และส่งผู้ป่วยมารับการรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

โดยระหว่างการนำส่งมายังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ผู้ป่วยยังได้รับการช่วยฟื้นคืนชีพตลอดเวลา ขณะนำส่ง เมื่อผู้ป่วยถูกส่งตัวมาถึงได้ถูกนำเข้ารับการรักษา ณ ห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ชั้น 1 อาคารกิตติวัฒนา โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เบื้องต้นแพทย์ประเมินพบว่าผู้ป่วยไม่มีสัญญานชีพ ระบบประสาทไม่มีการตอบสนอง ไม่พบคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จึงทำการ CPR อย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานทางการแพทย์ เพื่อช่วยเหลือชีวิตอย่างเต็มที่

หลังจากการทำ CPR ฟื้นคืนชีพอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เวลา 09.30-11.22 น. ร่างกายผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาและถึงแก่กรรมอย่างสงบ ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เวลา 11.22 น. ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตรอการชันสูตรตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง