สถานการณ์ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แต่หลายฝ่ายยังคงกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เนื่องจากค่าเงินเยนยังคงอยู่ในระดับอ่อนกว่าที่ควร
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนในวันนี้ (1 พ.ค. 67 ) อยู่ที่ 157 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 67 ที่ผ่านมาค่าเงินเยนยังคงอ่อนค่าลงไปแตะอยู่ที่ระดับ 160 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนได้ร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 160 เยนต่อดอลลาร์ เป็นครั้งแรกในรอบ 34 ปี นับตั้งแต่ปี 1990 ซึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีทิศทางที่แข็งค่าขึ้น จากการที่นักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางของสหรัฐฯ อาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
ทางการญี่ปุ่น ปฏิเสธ “ไม่ได้แทรกแซงค่าเงินเยน”
หลังจากที่ราคาค่าเงินเยนอ่อนค่าลงไปอย่างหนัก ในบ่ายวันเดียวกัน ( 29 เม.ย.) ค่าเงินเยนกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง โดยเด้งกับไปที่ระดับ 155 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งนักลงทุนต่างตั้งข้อสังเกตว่า มีการแทรกแซงค่าเงินเยนจากทางการของญี่ปุ่นหรือไม่
ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงปี 2565 ญี่ปุ่นได้มีการเข้าแทรกแซงค่าเงินถึง 3 ครั้งโดยไม่ได้มีการระบุอย่างเป็นทางการ แต่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ญี่ปุ่นใช้เม็ดเงินราว 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ในการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยน
อย่างไรก็ตาม การเด้งกลับมาของค่าเงินเยนที่เกิดขึ้นนั้น ทางการญี่ปุ่นยังปฏิเสธว่า ไม่ได้มีการเข้าแทรกแซงค่าเงินแต่อย่างใด แต่ยังคงติดตามสถานการณ์ค่าเงินเยนอย่างใกล้ชิด ซึ่งก็พร้อมจะดำเนินมาตรการใด ๆ ที่จำเป็น
โดยนายมาซาโตะ คันดะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังฝ่ายต่างประเทศของญี่ปุ่นได้ปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนของญี่ปุ่น โดยระบุเพียงว่า ยังไม่มีความเห็นใด ๆ ในขณะนี้ แต่มีการเตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อรับมือกับตลาดเงินทั้งในลอนดอน นิวยอร์ก หรือเวลลิงตัน ซึ่งหากพวกว่า มีความผันผวนมากเกินไป ก็พร้อมที่จะตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
ทางด้านของนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ก็ปฏิเสธไม่แสดงความคิดเห็นต่อแนวโน้มของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินเยน รวมถึงมาตรการแทรกแซงค่าเงินเยนของญี่ปุ่นด้วย
อย่างไรก็ตาม นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ ระบุว่า ยังคงไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่า การอ่อนค่าลงของเงินเยนจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในขณะนี้ และการปรับอัตราดอกเบี้ยนั้น จะขึ้นอยู่กับข้อมูลด้านเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม BOJ ก็จะยังคงเดินหน้าซื้อพันธบัตรของรัฐบาลญี่ปุ่น
ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่น และกับสหรัฐฯ มีช่องว่างที่คงที่และกว้างต่อไปอีก ทำให้นักลงทุนจำนวนมากจึงยังคงเลือกที่จะลงทุนในตลาดที่มีผลตอบแทนมากกว่าญี่ปุ่น
สินค้านำเข้าเตรียมราคาขยับขึ้น
ผลสำรวจของ Teikoku Databank ระบุว่า มีสินค้าจำพวกอากาศจำนวน 417 รายการที่จะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว รวมถึงมีแนวโน้มลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน
สำหรับสินค้าที่จะมีการปรับขึ้นราคานั้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้า ที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง รวมถึงสภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้ผลผลิตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เช่น กาแฟ โกโก้ น้ำมันมะกอก ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม หลายบริษัทยังคงกังวลต่อสถานการณ์ของค่าเงินเยนที่อ่อนค่าในขณะนี้ ซึ่งหากค่าเงินเยนยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะส่งผลต่อต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบ ซึ่งอาจจะทำให้จำเป็นต้องมีการปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอีกหลายชนิดด้วยกัน
เงินเยนอ่อนค่า นทท. พุ่งจนล้น
จากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงในขณะนี้ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากต่างหลั่งไหลเข้าไปท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นกันมากขึ้น เฉพาะในเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวมากกว่า 3 ล้านคนเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี
ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นได้รับอานิสงส์ดังกล่าวไปอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม การที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากนั้น กลับส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของชาวญี่ปุ่นมากขึ้น
ในเมืองเกียวโตของญี่ปุ่น ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นเมืองที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก จึงต้องรองรับนักท่องเที่ยวมากกว่า 2 ล้านคน และส่งผลกระทบต่อให้ปัญหาที่เกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น การใช้บริการขนส่งสาธารณะที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสัมภาระต่าง ๆ เช่นกระเป๋าเดินทาง ทำให้การใช้บริการได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น
ไม่นับปัญหาอื่น ๆ เช่น การไม่เคารพกฏระเบียบ, การทิ้งขยะ และความแออัดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองเกียวโต
จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยจึงมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้คือ “มลภาวะของการท่องเที่ยว” ที่สร้างผลกระทบต่อคนในพื้นที่