ฝุ่นเชียงใหม่วันนี้ยังวิกฤตมีผลกระทบต่อสุขภาพรุนแรง มูลนิธิตันปัน โดย นายตัน – นางอิง ภาสกรนที จึงร่วมมือกับ มูลนิธิป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันจังหวัดเชียงใหม่ นำโดย นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และนายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงนายอำเภอแม่ริมและนายอำเภอหางดง ฉีดยาแรงกระตุ้น ท้าดวลชวนชาวบ้านแข่งกับตัวเอง ร่วมกันลด “จุดความร้อน” ต้นเหตุฝุ่น PM2.5 ด้วยการ ไม่เผา – แจ้งจับ – ไม่สนันสนุนของป่า ตั้งเป้าลดจุดความร้อนมากถึง 80% เทียบกับข้อมูลจุดความร้อนของปีที่แล้ว นำร่องใน 69 หมู่บ้าน ของ 2 อำเภอหางดง และแม่ริม ชุมชนไหนทำได้รับเลย 1 แสนบาท/หมู่บ้าน ถ้าทำได้ครบทุกหมู่บ้าน รวมรางวัลมูลค่า 6.9 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่น PM2.5 และในกิจกรรมการสร้างอาชีพให้ชุมชนมีรายได้ และมีอาชีพที่ยั่งยืนในหมู่บ้าน เริ่มด่วน 40 วันสุดท้ายของฤดูฝุ่น ตั้งแต่วันนี้ – 30 เมษายน 2567 เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการป้องกันไฟ และฝุ่นควันในระดับพื้นที่
โครงการนี้เป็นความร่วมมือกันของภาคประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งชุมชน องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันอย่างยั่งยืน เพราะทุกคนมีส่วนในการสร้างฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะฝุ่นจากไฟป่า โดยจากสถิติข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ของกรมป่าไม้ พบว่าสาเหตุหลักของการเกิดไฟป่ามาจาก การหาของป่า และการเผาไร่ พื้นที่ภาคเหนือถูกไฟไหม้มากที่สุด โดยข้อมูลจาก GISTDA พบว่า “จุดความร้อน (Hot Spot)” จากการตรวจวัดคลื่นรังสีความร้อนที่เกิดจากไฟที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 800 องศาเซลเซียสเพิ่มขึ้น และเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนสูงสุด 3 อันดับแรกของประเทศ (ข้อมูลวันที่ 18 มีนาคม พบจุดความร้อนไทย 1,716 จุด เชียงใหม่ 140 จุด)
ตัน อิชิตัน กล่าวว่า “ผมเพิ่งบินไปเชียงใหม่ ก่อนลงเห็นทุกคนหยิบมือถือขึ้นมาถ่ายรูปท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยฝุ่นจนมองไม่เห็นดอยสุเทพ มองไม่เห็นพื้นดิน เมื่อไปถึงลูกน้องต้องรีบหาหน้ากากมาให้ใส่ เพราะเชียงใหม่ ฝุ่น PM2.5 สูงอันดับต้นๆ ของโลก ผมในฐานะคนรักเชียงใหม่เหมือนบ้านอีกหลัง จึงอยากช่วยแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่น PM2.5 โดยได้มอบเครื่องดื่มชูกำลัง “ตัน พาวเวอร์” และ เครื่องดื่ม “เย็นเย็น” กว่า 2,000 ลัง, รองเท้ากันไฟ จำนวน 40 คู่ และเครื่องเป่าลม จำนวน 4 เครื่อง ให้จังหวัดเชียงใหม่ไปบริหารจัดการแจกจ่ายให้ครอบคลุมทั้ง 25 อำเภอ เพื่อสนับสนุนและเป็นกำลังใจ ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่สู้ไฟป่า พร้อมทั้งชวนชาวบ้านร่วมกันลด “จุดความร้อน” ต้นเหตุฝุ่น PM2.5 ด้วยการ ไม่เผา – แจ้งจับ – ไม่สนันสนุนของป่า ที่ปรับการทำงานเป็นล่างขึ้นบน (จากเดิมที่เป็นการสั่งการแบบบนลงล่าง) คือให้ชุมชนเป็นแกนหลักป้องกันไฟและฝุ่นควันในระดับพื้นที่ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยสนับสนุน เพื่อสร้างกระบวนการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม เพราะผมเชื่อว่ายังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่รักเชียงใหม่ และมีชุมชนอีกหลายแห่งที่ลุกขึ้นมาดูแลป้องกันไฟป่า และช่วยกันดับไฟมาโดยตลอด
นำร่องโครงการใน 2 อำเภอคือ อำเภอหางดง 22 หมู่บ้าน และอำเภอแม่ริม 47 หมู่บ้าน รวม 69 หมู่บ้าน ตั้งเป้าให้ชาวบ้านแต่ละชุมชนแข่งกับสถิติเดิมของตัวเองด้วยการลดจุดความร้อนลง 80% จากปี 2566 โดยอำเภอหางดง ปี 2566 มีจุดความร้อน ทั้งหมด 181 จุด ปี 2567 ให้เกิดได้ไม่เกิน 36 จุด หรือตั้งเป้าลดจุดความร้อนอย่างน้อย 145 จุด ด้านอำเภอแม่ริม ปี 2566 มีจุดความร้อนทั้งหมด 137 จุด ปี 2567 ให้เกิดได้ไม่เกิน 25 จุด หรือตั้งเป้าลดจุดความร้อนอย่างน้อย 112 จุด รวม 2 อำเภอ ตั้งเป้าลดจุดความร้อนอย่างน้อย 257 จุด ชุมชนในหมู่บ้านไหนทำได้ รับเงินสนับสนุน
จากผม หมู่บ้านละ 1 แสนบาท ถ้าทำได้ครบทุกหมู่บ้าน รวมรางวัลมูลค่า 6.9 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่น PM2.5 และในกิจกรรมการสร้างอาชีพให้ชุมชนมีรายได้ และมีอาชีพที่ยั่งยืนในหมู่บ้าน โดยจะเริ่มเก็บสถิติใน 40 วัน นับจากนี้เป็นต้นไป คือ ช่วงระหว่างวันที่20 มีนาคม – 30 เมษายน 2567