นางอัจฉรา ซิ้มเจริญ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ พร้อมด้วยนางสาวพิมพ์ชนก สรงมงคล นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ นายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นางสาวอังสนา มองทรัพย์ หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ร่วมวางยาสลบเสือ “บะลาโกล” เพื่อตรวจสุขภาพและตรวจอาการบาดเจ็บที่ดวงตา โดยได้รับความอนุเคราะห์จากนายสัตวแพทย์อานนท์ ชุมคำลือ ผู้เชี่ยวชาญโรคตาในสัตว์
เมื่อตรวจสอบพบว่า ดวงตาข้างหนึ่งมีขนาดใหญ่กว่าอีกข้างถึง 2 เท่า และมีของเหลวและก้อนเนื้อภายใน เพื่อป้องกันความเจ็บปวดและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตาอีกข้าง ทีมงานจึงตัดสินใจผ่าตัดเอาดวงตาที่บาดเจ็บออก ก่อนเย็บปิด ให้ยาปฏิชีวนะ ยาลดการอักเสบ ยาลดปวด น้ำเกลือ และให้ยาฟื้นสลบ พร้อมกับมีการตรวจค่าเลือด ตรวจโรค ตรวจชิ้นเนื้อ และตรวจรหัสพันธุกรรมด้วย
ทางด้านของนายสัตวแพทย์ชำนาญโรคตา ระบุว่า ตาเสือเป็นต้อหินนั้นพบได้บ่อยในกลุ่มเสือกรงเลี้ยงที่มีภาวะเลือดชิด แต่กรณีสัตว์ป่าการดูแลรักษาต่างจาก แมวหมาที่เลี้ยงไว้อย่างสิ้นเชิง
ในการตรวจสุขภาพครั้งนี้ ได้มีการแก้ไขเรื่องการระบุเพศผิดพลาดในครั้งก่อนด้วย เดิมทีระบุว่าเป็นเพศเมีย แต่จากการตรวจสอบอย่างละเอียดในครั้งนี้ พบว่าเสือโคร่งตัวนี้เป็นเพศผู้ อายุประมาณ 2 ปี น้ำหนักตัว 105 กิโลกรัม การวางยาสลบในครั้งนี้สำเร็จเป็นอย่างดี เนื่องจากประสบการณ์ของทีมงาน
หลังจากนี้ เสือโคร่งตัวนี้จะต้องได้รับการดูแลรักษาจากอาการผ่าตัดเอาดวงตาออกไปเป็นระยะหนึ่ง รวมถึงการประเมินผลการตรวจสุขภาพและความพร้อมในการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งทางทีมนักวิจัยกำลังเตรียมการเพื่อจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการปล่อยตัวกลับคืนสู่ป่า โดยจะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบอีกครั้ง
แม้จะเหลือดวงตาเพียงข้างเดียว แต่เชื่อว่าสัตว์ป่าก็สามารถดำรงชีวิตในธรรมชาติได้อย่างไม่มีปัญหา เนื่องจากมีสัญชาตญาณการล่าเหยื่อและความสามารถอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ นอกจากนี้ ยังมีการเก็บตัวอย่างเลือด ดวงตา เพื่อตรวจหาโรคและรหัสพันธุกรรมต่อไป
ที่มา –
- สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 นครสวรรค์
- Thailand Tiger Project DNP