วันที่ 11 มีนาคม 2567 พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พร้อมด้วย เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เดินทางไปยังเรือ Ocean Valor จอดเรืออยู่บริเวณอ่าวไทย ใกล้จุดที่ รล.สุโขทัย อับปาง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อตรวจเยี่ยมปฏิบัติการค้นหาและปลดวัตถุอันตราย รล.สุโขทัย ในวันสุดท้าย หลังปฏิบัติภารกิจครบ 19 วัน ตั้งแต่ 22ก.พ.-11มี.ค.67 ระหว่างกองทัพเรือไทย กับกองทัพเรือสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก โดยเป็นหนึ่งในภารกิจการฝึก Cobra Gold 2024
นอกจากนี้กองอำนวยการค้นหาและปลดวัตถุอันตราย รล.สุโขทัย จัดแถลงข่าวปิดปฏิบัติการฯ ครบ 19 วัน บน รล.อ่างทอง นำโดย พล.ร.อ.ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ในฐานะผู้อำนวยการค้นหาและปลดวัตถุอันตราย รล.สุโขทัย พล.ร.ต.วิชชุ บำรุง ผู้บังคับหมวดเรือค้นหาและปลดสัตถุอันตราย รล.สุโขทัย ร.ต.ธงบุญ เพ็งแก้ว หัวหน้าชุดประดาน้ำ , เรือเอก William Rittenhouse Commander, Task Group73.6
พล.ร.อ.ชาติชาย กล่าวว่า เป็นระยะเวลา 1 ปี 2 เดือน 22 วัน ที่ รล.สุโขทัย อับปางใต้ทะเลในความลึก 50 เมตร ซึ่งสภาพเรือพบว่า เรือตั้งแท่นเชนเดิม เอียงไปทางกราบซ้าย 7.3 องศา
สำหรับปฏิบัติการของนักประดาน้ำ 2 ประเทศ รวมปฏิบัติการดำน้ำ 82 เที่ยว 67 ชั่วโมง 53 นาที โดยผลการค้นหา 5 ผู้สูญหาย ไม่พบร่างทั้ง 5 คน หลังนักประดาน้ำได้เข้าสำรวจภายในห้องต่างๆ ตามที่วางแผน โดยส่วนใหญ่เป็นห้องที่อยู่ต่ำกว่าดาดฟ้าเรือ แต่ไม่ได้เข้าทุกห้อง ด้วยความเสี่ยงต่างๆ เพราะเรือจมอยู่ใต้น้ำลึก 50 เมตร รวมทั้งการสำรวจรอบตัวเรือ และพื้นทะเลใต้ตัวเรือ
ทั้งนี้นักประดาน้ำได้ทำการเก็บ ‘พยานวัตถุ’ 58 รายการ ทั้งที่เป็นวัตถุ-ภาพถ่าย ตามที่คณะกรรมการหาข้อเท็จจริงฯ ต้องการ เพื่อใช้ประกอบการสอบสวนหาสาเหตุ เช่น บริเวณแผ่นดันคลื่น , ประตูผนึกน้ำรอบตัวเรือ , รอยทะลุทางกราบซ้าย 2 รอย , สภาพฐานแท่นแพชูชีพ 6 แผง เป็นต้น
สำหรับส่วนที่เป็นวัตถุ ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง , เครื่องบันทึกภาพดิจิทัล DVR 1 เครื่อง , เสื้อชูชีพ 1 ตัว , คอมพิวเตอร์ Laptop 1 เครื่อง , สมุดจดคำสั่งการนำเรือ 1 เล่ม
สำหรับเครื่องบันทึกภาพดิจิทัล DVR หรือทีวีวงจรปิด ทางกองทัพเรือได้นำส่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ทำการตรวจสอบและกู้ข้อมูล โดยกองทัพเรือหวังให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุด พร้อมย้ำว่าเรือรบไม่มีกล่องดำเหมือนกับเครื่องบิน แต่สิ่งที่บันทึกความเคลื่อนไหวภายในเรือจะมาจากกล้องวงจรปิด ในจุดที่มีการกล้องฯ
นอกจากนี้ทางสหรัฐฯ ยังได้ปลดขีดความสามารถทางทหารกับยุทโธปกรณ์บนเรือ ได้แก่ อาวุธปล่อยนำวิถีสู่พื้นฮาร์พูน , ตอร์ปิโด MK309 , เครื่องมือสื่อสาร , ปืนกล 20 มิลลิเมตร จำนวน 2 กระบอก , ปืนเล็กยาว M16 จำนวน 10 กระบอก ไม่ให้ใช้การได้ โดยทั้งหมดนำส่งให้กองทัพเรือไทยในฐานะเจ้าของ นำไปเข้าสู่กระบวนการต่างๆต่อไป
พร้อมกันนี้ยังได้นำสิ่งของภายใน รล.สุโขทัย ขึ้นมา เพื่อจัดทำเป็นอนุสรณ์ เช่น ป้ายชื่อเรือ , พญาครุฑ , พระพุทธรูป , พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช , ระฆังเรือ , สมอเรือ , ธงราชนาวี , เสากระโดงเรือ , สมอเรือ , ป้ายขึ้นระวางประจำเรือ เป็นต้น
สำหรับสิ่งที่กองทัพเรือจะดำเนินการต่อไป 3 ข้อ ได้แก่
- รวบรวมยุทโธปกรณ์ อุปกรณ์ สิ่งของ รล.สุโขทัย ที่เก็บกู้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี รล.สุโขทัย อับปาง จะทำการสรุปผลการสอบสวน
- การสร้างอนุสรณ์สถาน เรือหลวงสุโขทัย โดยนำสิ่งของที่มีคุณค่าทางจิตใจต่างๆ มาจัดแสดงในพื้นที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพราะเป็นบ้านและที่ตั้งหน่วยของเรือหลวงสุโขทัย ส่วนจะมีการจัดแสดงอาวุธหรือไม่ ต้องรอการพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ พล.ร.อ.ชาติชาย กล่าวย้ำว่า ด้วยปฏิบัติภารกิจทั้งหมด ทำให้ไม่ต้องกู้เรือทั้งลำ เพราะได้พยานหลักฐานครบทุกรายการตามที่คณะกรรมการสอบสวนฯ ต้องการ และตอบโจทย์ทั้ง 4 ข้อในการปฏิบัติภารกิจ ได้แก่ การค้นหาผู้สูญหาย , การตรวจสอบพยานวัตถุที่เรือ , การปลดวัตถุอันตราย , การนำวัตถุที่มีคุณค่าทางจิตใจขึ้นมา
“การค้นหาผู้สูญหาย ทางนักประดาน้ำได้สำรวจเต็มที่ในทุกเที่ยวดำน้ำ ผมบอกกับเขาว่าระหว่างลงไป ไม่ว่าไปไหน ให้ค้นหาผู้สูญหายด้วย” พล.ร.อ.ชาติชาย กล่าว
ส่วนเรื่องการเยียวยาครอบครัว 5 ผู้สูญหาย ได้ดำเนินการเหมือนกับ 24 รายที่เสียชีวิต และพบร่างแล้ว ขณะนี้เหลือเพียงขั้นตอนทางกฎหมาย ที่ต้องรอคำสั่งศาลว่าเป็นผู้สูญหาย เมื่อครบ 2 ปี
เมื่อถามถึงพยานวัตถุ 58 รายการ ตรงกับคำให้การพยานบุคคลหรือไม่ และจะสามารถเปิดหลักฐานทุกรายการได้หรือไม่ พล.ร.อ.ชาติชาย กล่าวว่า อยู่ที่กองทัพเรือพิจารณา เพราะทางชุดปฏิบัติครั้งนี้ มีหน้าที่เก็บข้อมูล , หลักฐาน , ภาพ และวิดีโอต่างๆ เท่านั้น ส่วนจะเกี่ยวข้องกับสำนวนสอบสวนหรือไม่ เป็นหน้าที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง สำหรับระยะเวลานั้น ทาง ผบ.ทร. เร่งให้เร็วที่สุด ไม่เกิน 1 เดือน
เมื่อถามว่าสมุดจดคำสั่งการนำเรือ 1 เล่ม เก็บกู้ขึ้นมานั้น ยังสามารถอ่านรายละเอียดได้หรือไม่ พล.ร.อ.ชาติชาย กล่าวว่า ได้ส่งไปยังหน่วยงานที่มีหน้าที่แล้ว และต้องให้คณะกรรมการหาข้อเท็จจริงฯ ตรวจสอบ
สำหรับงบประมาณในปฏิบัติการครั้งนี้ พล.ร.อ.ชาติชาย กล่าวว่า ทางสหรัฐฯจะชี้แจงอีกครั้ง แต่ในส่วนของกองทัพเรือไทย ได้คืนงบประมาณให้รัฐบาลไปแล้ว 90 ล้านบาท ส่วนงบที่กองทัพเรือจัดสรรเอง 110 ล้านนั้น พล.ร.อ.ชาติชาย ระบุว่า เป็นวิธีที่ดีที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยใช้งบประมาณไม่มาก ซึ่งจะมีการชี้แจงต่อไป