วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๗ นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดทำภาพวาดนางสงกรานต์ ประจำปี ๒๕๖๗ พร้อมเผยแพร่ประกาศสงกรานต์ ปีพุทธศักราช ๒๕๖๗ จากฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ดังนี้
ประกาศสงกรานต์ ปีพุทธศักราช ๒๕๖๗
ปีมะโรง (เทวดาผู้ชาย ธาตุทอง) ฉอศก จุลศักราช ๑๓๘๖ ทางจันทรคติ เป็น ปกติ มาสวาร ทางสุริยคติ เป็น อธิกสุรทิน วันที่ ๑๓ เมษายน เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ เวลา ๒๒ นาฬิกา ๒๔ นาที
นางสงกรานต์ ทรงนามว่า มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จไสยาสน์ลืมเนตรมาเหนือหลัง มยุรา (นกยูง) เป็นพาหนะ
วันที่ ๑๖ เมษายน เวลา ๐๒ นาฬิกา ๑๕ นาที ๐๐ วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น ๑๓๘๖ ปีนี้ วันอังคาร เป็น ธงชัย , วันพฤหัสบดี เป็น อธิบดี , วันจันทร์ เป็น อุบาทว์ , วันเสาร์ เป็น โลกาวินาศ
ปีนี้ วันอังคาร เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก ๓๐๐ ห่า ตกในโลกมนุษย์ ๓๐ ห่า ตกในมหาสมุทร ๖๐ ห่า ตกในป่าหิมพานต์ ๙๐ ห่า ตกในเขาจักรวาล ๑๒๐ ห่า นาคให้น้ำ ๗ ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ ๕ ชื่อ วิบัติ ข้าวกล้าในภูมินาจะเกิดกิมิชาติ จะได้ผลกึ่ง เสียกึ่ง เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีวาโย (ลม) น้ำน้อย
รู้จักนางสงกรานต์ทั้ง 7
ตามประวัติของนางสงกรานต์นั้น มีทั้งหมด 7 คน เป็นนางฟ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช เป็นหญิงรับใช้ของพระอินทร์ และเป็นธิดาของท้าวกบิลพรหมเทพผู้เป็นตัวแทนแห่งพระอาทิตย์ ธิดาทั้ง 7 จึงเป็นตัวแทนของวันทั้ง 7 ในรอบสัปดาห์ การเลือกนางสงกรานต์ของแต่ละปีจึงถูกกำหนดจากว่า วันที่ 14 เมษายนตรงกับวันใดของสัปดาห์ นางสงกรานต์ประจำวันนั้นก็จะถูกเลือกให้รับหน้าที่อัญเชิญศีรษะเพื่อเคลื่อนผ่านพระอาทิตย์จากราศีมีนสู่ราศีเมษ
- นางสงกรานต์ทุงษเทวี นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์
- นางสงกรานต์โคราดเทวี นางสงกรานต์ประจำวันจันทร์
- นางสงกรานต์รากษสเทวี นางสงกรานต์ประจำวันอังคาร
- นางสงกรานต์มัณฑาเทวี นางสงกรานต์ประจำวันพุธ
- นางสงกรานต์กิริณีเทวี นางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี
- นางสงกรานต์กิมิทาเทวี นางสงกรานต์ประจำวันศุกร์
- นางสงกรานต์มโหทรเทวี นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์
(ที่มา ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง)