คืบหน้าปม “ตั๋วเครื่องบิน กทม-ภูเก็ต แพง” ล่าสุด “สุริยะ” สั่ง กพท. เร่งสรุปแนวทางลดค่าตั๋ว หวังแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชน เผยผลหารือร่วม 6 สายการบิน ลุยกำหนดมาตรการ 2 ระยะ นำร่องแผนระยะสั้น เล็งเพิ่มเที่ยวบินช่วงเทศกาล ส่วนมาตรการระยะยาวชี้สมควรปรับลดเพดานราคาให้สอดคล้องกับต้นทุน-สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมนัดประชุมอีกครั้ง 28 ก.พ.นี้ ก่อนเสนอ กบร. เคาะไฟเขียว-มีผลบังคับใช้ต่อไป
ย้อนที่มาดราม่า ‘ตั๋วกทม-ภูเก็ต’ หลักหมื่น
การเดินทางไปเที่ยวเมืองไทยหลังจากนี้มีคิดหนัก หลังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ภาพราคาตั๋วเครื่องบินไป-กลับ “กรุงเทพฯ – ภูเก็ต” ชั้นประหยัดของสายการบินดังเจ้าหนึ่ง โดยเดินทางไปวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 เดินทางกลับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ผลปรากฏว่า ราคาตั๋วเครื่องบินพุ่งสูงถึง 14,558 บาท พร้อมระบุข้อความว่า “คนรวยจริง ไม่ใช่คนที่ไปเที่ยวต่างประเทศตอนนี้ค่ะ คนรวยจริง คือคนที่บินไปภูเก็ตด้วยสายการบินต่าง ๆ ในไทยตอนนี้ นี่ขนาดสายการบินราคาประหยัดแล้วนะ ย่านสูย่านนนนน เที่ยวเมืองไทย ไม่ไปก็ได้” จึงเกิดเป็นคำถามขึ้นในสังคมว่า เหตุใดตั๋วเครื่องบินดังกล่าวจึงมีราคาแพงขนาดนี้?
CAAT แจง เหตุตั๋ว ‘กรุงเทพ-ภูเก็ต‘ เที่ยวละเป็นหมื่น เหตุจองกระชั้นชิด
โดยก่อนหน้านี้ CAAT เคยได้ออกมาแจงถึงกรณี “ตั๋วจากภูเก็ตไปกรุงเทพเที่ยวละเป็นหมื่น” ระบุว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้นแล้วพบว่า มีการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและสร้างความสับสนให้กับประชาชน และ CAAT ได้ตรวจสอบกับสายการบินที่ถูกอ้างอิงแล้วพบว่า ไม่มีการขายตั๋วที่ราคาสูงเช่นนั้น นอกจากนี้ยังได้ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ราคาตั๋วดังกล่าวเป็นการจองในช่วงเวลาวันศุกร์ที่มีความต้องการในการเดินทางสูง และเป็นช่วงเวลากระชั้นเพียง 2-3 วัน ซึ่งทำให้พบตั๋วราคาสูง
นอกจากนี้ จากข้อมูลที่ผู้สื่อข่าวสืบค้น พบว่า หากย้อนดูราคาตั๋วเครื่องบินในปี 2021 และ 2022 ซึ่งเป็นช่วงที่มีสถานการณ์โควิดนั้น ราคาตั๋วไม่แพงเทียบเท่ากับในปี 2023 และ 2024 ที่มีราคาสูง สอดคล้องกับที่ CAAT ออกมาชี้แจงว่า หากเปรียบเทียบราคาตั๋วโดยสารเครื่องบินในปัจจุบันกับราคาในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 อาจจะเห็นว่าราคาตั๋วเครื่องบินแพงขึ้นมาก แต่ข้อเท็จจริงคือ ในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 เงื่อนไขต่าง ๆ รวมทั้งกลไกทางตลาดในอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยบิดเบือนไปมาก จากการที่สายการบินเข้าใจว่า ปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นมากนั้น จะสามารถสร้างผลกำไรได้มาก จึงพากันแข่งขันราคาโดยคาดหวังว่าท้ายที่สุดแล้ว หักลบเที่ยวบินที่มีกำไรกับเที่ยวบินที่ขาดทุนตลอดทั้งปีคงจะพออยู่ได้ และได้กลายเป็นสายการบินต้นทุนต่ำที่มีฐานลูกค้ากว้างสำหรับธุรกิจในระยะยาว แต่จากการแข่งขันที่มากเกินไปทำให้สายการบินต่างพากันขาดทุนแม้จะมีผู้โดยสารจำนวนมาก นอกจากนั้นเงื่อนไขที่สายการบินได้รับอนุญาตให้ทำการบินในเส้นทางหลัก จะต้องบินในเส้นทางสายรองและสายย่อยด้วย ซึ่งเส้นทางเหล่านั้นมักไม่ค่อยมีกำไรหรือหลายเส้นทางก็ขาดทุน
ดังนั้น ราคาตั๋วเครื่องบินที่ประชาชนและผู้โดยสารคุ้นเคยในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 จึงเป็นราคาที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐ จึงใช้นโยบายควบคุมเฉพาะราคาเพดานไม่ให้สูงเกินไป โดยพิจารณาจากต้นทุนต่าง ๆ ของสายการบิน ไม่ได้มีการควบคุมราคาต่ำสุด เพราะเห็นว่าการใช้แนวทางนี้จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการขนส่งทางอากาศได้ง่ายขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จากการแข่งขันที่รุนแรงเช่นนั้น ก็ส่งผลต่อเสถียรภาพในการดำเนินงานตามแผนธุรกิจของสายการบินที่อยู่ในการกำกับดูแลด้วยเช่นกัน จึงได้ปรับนโยบายและผลักดันให้สายการบินยุติการแข่งขันด้านราคา มีผลให้สภาพการแข่งขันแบบเดิมที่มีตั๋วโดยสารราคาถูกจำนวนมากอย่างเช่นช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ค่อย ๆ ลดลง เพื่อปรับให้เข้าสู่กลไกทางการตลาดที่สมดุลตามปกติ
เปิดสถิติต่างชาติท่องเที่ยว 1 ม.ค. – 18 ก.พ. 67 ยอดทะลักกว่า 5.2 ล้านคน
มีรายงานจากข้อมูลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเปิดเผยยอดจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศ สะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 18 ก.พ. 2567 นั้นมีจำนวนรวมอยู่ที่ 5,217,379 ราย ขณะที่เมื่อย้อนไปในปี 2565 นักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งสิ้น 11,065,226 ราย
ขณะที่ในปี 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดอยู่ที่ 28,150,016 ราย จะเห็นได้ว่า เพียงแค่ระยะเวลาเพียง 1 เดือนกว่า นักท่องเที่ยวในปีนี้ เดินทางเข้ามาเกือบจำนวนถึงครึ่งของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2565 ซึ่งสะท้อนได้ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น อาจส่งผลให้ตั๋วเครื่องบินแพงขึ้นด้วยหรือไม่
“รมว. คมนาคม” แจง ตั๋วเครื่องบินแพง ผลพวงจากราคาน้ำมันตลาด
ขณะที่ทางฝั่งของนายสุริยา จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่ากากระทรวงคมนาคม ได้เดินหน้าแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยกล่าวถึงกรณีราคาตั๋วเครื่องบิน กรุงเทพฯ – ภูเก็ต ที่มีราคาแพงมาก ว่า ตนได้ให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่ดูแลเรื่องการกำหนดเพดานค่าโดยสารเครื่องบิน ซึ่งหลังจากตรวจสอบแล้วตั๋วเครื่องบินที่บอกว่ามีราคาเป็นหมื่นนั้นไม่ใช่เพราะเป็นการเดินทางไป – กลับ แต่ถ้าเป็นสายการบินแบบ low cost ไม่น่าจะเกิน 5,000 บาท ต่อเที่ยวบิน พร้อมระบุว่า ตนได้ให้ ผู้อำนวยการ กพท. ไปดูการปรับสูตรเพื่อที่จะลดราคาตั๋วเครื่องบินลง เพราะในสูตรเดิมมีค่าน้ำมัน ที่อยู่ในสูตรการคำนวณราคา แต่เดิมราคาน้ำมัน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตอนนี้น้ำมันถูกลงแล้ว จะต้องมีการปรับสูตร ทางกพท.ก็จะชวนสายการบินต่างๆ มาพูดคุยกัน เพื่อหาทางลดภาระของผู้โดยสาร
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีราคาในใจที่คิดว่าเหมาะสมจะอยู่ที่เท่าไหร่ นายสุริยะกล่าวว่า คงจะต้องถูกกว่าเดิมแน่นอน แต่เท่าไหร่นั้นมีสูตรการคำนวณอยู่ และยืนยันว่าจะทันในช่วงที่ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ คือช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้อย่างแน่นอน เมื่อผู้สื่อข่าวสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ราคาน้ำมันขณะนี้ (ข้อมูลล่าสุดวันที่ 20 ก.พ. 67) อยู่ที่ 77.72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
กฎหมายการเดินอากาศ กำหนดกลไกการควบคุมราคาค่าโดยสารเป็น ‘เพดานขั้นสูงสุด’ ไว้
กฎหมายการเดินอากาศได้กำหนดกลไกการควบคุมราคาค่าโดยสารเป็นเพดานขั้นสูงสุดไว้ โดยราคาค่าโดยสารสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำในเส้นทางภูเก็ต-กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) หรือภูเก็ต-กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) ต่อเที่ยว ถูกกำหนดไว้ที่ราคา 6,561 บาท หากเลือกจองทั้งขาไปและขากลับ จะอยู่ที่ราคา 13,122 บาท และกรณีสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ CAAT กำกับเพดานราคาค่าโดยสารในเส้นทาง ภูเก็ต-กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ) ต่อเที่ยว จะอยู่ที่ราคา 9,074 บาท หากเลือกจองทั้งขาไปและขากลับ จะอยู่ที่ราคา 18,148 บาท ซึ่งอัตราดังกล่าวเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการบินพลเรือน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าโดยสารในเส้นทางภายในประเทศ พ.ศ. 2561 โดยราคาดังกล่าวนั้น ยังไม่รวมถึงรายการอื่น ๆ เช่น ค่าภาษีสนามบิน ภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการเลือกที่นั่ง เลือกอาหาร หรือการซื้อประกันภัย
‘ภูเก็ต’ จังหวัดท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมตลอดทั้งปี ทำตั๋วแพง?
นอกจากนี้ CAAT ยังชี้แจงว่า ภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมตลอดทั้งปี ในช่วงที่มีการร้องเรียนเป็นช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีน ทำให้ความต้องการเดินทางสูงกว่าปกติ จะเห็นว่าหากทำการจองล่วงหน้า 1 สัปดาห์ก่อนวันเดินทาง ราคาตั๋วจะพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากที่นั่งเหลือน้อย ประกอบกับปัจจุบันสายการบินมีอากาศยานไม่เพียงพอต่อความต้องการเดินทางในช่วงเทศกาล และอยู่ระหว่างการจัดหาอากาศยานเพิ่มเติมในช่วงที่มีการร้องเรียนเป็นช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีน ทำให้ความต้องการเดินทางสูงกว่าปกติ จะเห็นว่าหากทำการจองล่วงหน้า 1 สัปดาห์ก่อนวันเดินทาง ราคาตั๋วจะพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากที่นั่งเหลือน้อย ประกอบกับปัจจุบันสายการบินมีอากาศยานไม่เพียงพอต่อความต้องการเดินทางในช่วงเทศกาล และอยู่ระหว่างการจัดหาอากาศยานเพิ่มเติม จากการค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ภูเก็ต เป็นหนึ่งในเมืองในประเทศไทยที่ชาวต่างชาตินิยมไปเกษียณอายุมากที่สุด จึงอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ตั๋วมีราคาแพงเช่นกัน