คัดลอก URL แล้ว
กรอบเจรจา “ไทย-กัมพูชา” 7 ก.พ.นี้

กรอบเจรจา “ไทย-กัมพูชา” 7 ก.พ.นี้

รัฐบาลไทย เปิดทำเนียบต้อนรับ พลเอก ฮุน มาเนต นายกฯ กัมพูชา ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยในวันพรุ่งนี้ โดยนายกฯ ไทย-กัมพูชา จะหารือถึงกรอบความร่วมมือ ภายใต้ผลประโยชน์ร่วมกัน ผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจ การเพิ่มปริมาณการค้า-การลงทุน และการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่ง-ท่องเที่ยว รวมถึงกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน 2 ประเทศ

นายกฯ ไทย-กัมพูชา ร่วมเป็นสักขีพยาน-ลงนามเอกสารความร่วมมือด้านต่าง ๆ โดยที่ประชุม ครม. อนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจฯ ผ่านแดนสินค้าของกรมศุลกากรไทย และกรมศุลกากร-สรรพสามิตกัมพูชา ทั้งนี้หากจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างฯ ต้องไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ซึ่งได้มอบให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการโดยไม่ต้องเสนอต่อ ครม.พิจารณาอีก

นอกจากนี้ร่างบันทึกฯ กำหนดสาระสำคัญ 7 ประเด็น คือ การกำหนดให้คู่ภาคีต้องอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน สินค้าต้องห้าม หรือ สินค้าจำกัดในการผ่านแดน ต้องยึดตามข้อกำหนด สินค้าผ่านแดนต้องขนส่งผ่านพรมแดนที่กำหนด ข้อพิพาทที่เกิดจากการตีความร่างบันทึกความเข้าใจ ต้องมีการเจรจาอย่างฉันมิตร

รวมถึงการแก้ไข-เพิ่มเติมร่างฯต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร และภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง ร่างบันทึกฯ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันลงนาม และให้มีผลบังคับโดยไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด และสุดท้ายคือภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจร้องขอยกเลิกร่างบันทึกฯ ต้องส่งหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน

“คำนูณ-นพดล” คาดหวังเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

นายนพดล ปัทมะ ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศสภาผู้แทนราษฎร แสดงความเห็นก่อนที่รัฐบาลไทย-กัมพูชา จะหารือกันเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล และเขตพัฒนาร่วมเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางทะเล โดยจะต้องหารือควบคู่กัน และแยกกันไม่ได้ และย้ำว่ากรอบเจรจา ต้องยึดตาม MOU 2544 ที่เป็นเครื่องมือนำไปสู่คำตอบของการพูดคุย โดยไทยจะไม่เสียเปรียบ

ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ยอมรับห่วงรัฐหารือพื้นที่ทับซ้อนไหล่ทวีปไทย-กัมพูชา เพราะปัญหา 3 ล็อค จาก MOU 2544 อาจเจอทางตันและไปต่อไม่ได้ พร้อมย้ำโจทย์ต้องหารือพื้นที่แบ่งประโยชน์-ทับซ้อน ให้ได้ข้อสรุป

พร้อมกัน โดยไทยต้องไม่เสียอธิปไตย ก่อนระบุว่า รัฐบาลต้องชี้แจงกรอบการหารือต่อประชาชนให้ชัดในทุกประเด็นข้อสงสัย

นายคำนูณ ตั้งคำถามถึงรัฐบาลว่า มีหลักประกันอะไร ที่การหารือยึดโยงกับ MOU 2544 แล้วไทยจะไม่เสียผลประโยชน์ หรือ สิทธิอธิปไตย จึงอยากให้รัฐบาลทบทวน และย้ำว่าการหารือร่วมกันของรัฐบาลไทย-กัมพูชา อาจไม่สามารถตกลงกันเองได้ หากแต่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง