วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2567) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม” เพื่อร่วมศึกษาและรับฟังความเห็นที่แตกต่างกันว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมควรมีลักษณะและขอบเขตเป็นอย่างไร
ในการนี้ Pita Limjaroenrat – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายว่า การนิรโทษกรรมไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 22 ครั้งในอดีต อย่างไรก็ตาม โอกาสในการรับนิรโทษกรรมที่ผ่านมามักผูกขาดอยู่กับเฉพาะคณะรัฐประหาร หรือคนที่จะคิดจะล้มล้างการปกครองเพียงอย่างเดียว โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 มาจนถึงปี พ.ศ. 2557 มีเพียงการนิรโทษกรรมในปี พ.ศ. 2521 ครั้งเดียวเท่านั้นที่เป็นการนิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกเหนือจากนั้นเป็นการนิรโทษกรรมผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศในฐานะกบฏทั้งสิ้น
ต้องยอมรับกันก่อนว่าเราอยู่ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองไทยอย่างน้อยนับตั้งแต่การทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่สร้างบาดแผลอย่างร้าวลึกในสังคมไทย นำไปสู่ 10 กว่าปีที่สูญหาย การเมืองไทยผ่านนายกรัฐมนตรีมา 7 คน ไม่นับรักษาการนายกรัฐมนตรี 2 คน พบกับการรัฐประหาร 2 ครั้ง รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ การชุมนุมใหญ่ต่อต้านรัฐบาล 9 ระลอก รวมถึงการปะทะ ปราบปราม สลายการชุมนุมจนคนล้มตายนับร้อย บาดเจ็บนับพัน เศรษฐกิจเสียหายหลายแสนล้านบาท
เพราะฉะนั้น การนิรโทษกรรมจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการทำให้คนพ้นผิดทางกฎหมาย แต่เป็นโอกาสในการสร้างความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคม กล่าวคือ สังคมต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและความไม่เป็นธรรมทางการเมืองเกิดขึ้นอีก โดยเสาะแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีต ทำให้เกิดความโปร่งใส นำผู้กระทำผิดมาลงโทษและแสดงความรับผิดชอบต่อสาธารณะ เพื่อไม่ให้เกิดวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล หากทำได้เช่นนี้ ความปรองดองและความสมานฉันท์จะเกิดขึ้นได้จริงในสังคม 🤝
“นี่เป็นโอกาสดีที่สังคมไทยจะสามารถก้าวไปให้ไกลกว่าแค่เรื่องการนิรโทษกรรม เพราะนี่เป็นแค่จุด ๆ หนึ่งเท่านั้นในการที่จะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทยน้อยลงและมีเสถียรภาพ มีสมาธิพอที่จะใช้พลังของพวกเราไปกับการแก้ไขปัญหาเรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การศึกษา” พิธากล่าว
.
นอกจากนี้ การนิรโทษกรรมต้องไม่คิดถึงเฉพาะคนที่ถูกทำรัฐประหาร หรือคนที่ออกมาเรียกร้องทางการเมือง แต่ต้องรวมถึงคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหารด้วย ไม่ว่าจะเป็นคดีทวงคืนผืนป่าที่มีคนต้องถูกดำเนินคดีกว่า 80,000 คดี คดีการทำประมงที่ผิดกติกา IUU รวมถึงคดีที่รัฐฟ้องปิดปากประชาชน
พิธากล่าวทิ้งท้ายว่า ในขณะที่สภาฯ กำลังพิจารณาศึกษาแนวทางการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม กระดุมเม็ดแรกที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้เลยทันที คือการสั่งให้ตำรวจและอัยการชะลอการดำเนินคดีทั้งหมดไว้ก่อน เพื่อยุติบาดแผลและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน
.