คัดลอก URL แล้ว
“โฆษกอัยการสูงสุด” แนะหากจะปรับแก้กฎหมายลดอายุเด็กในการรับโทษ ต้องยกเป็นวาระเร่งด่วนหารือรอบด้าน

“โฆษกอัยการสูงสุด” แนะหากจะปรับแก้กฎหมายลดอายุเด็กในการรับโทษ ต้องยกเป็นวาระเร่งด่วนหารือรอบด้าน

จากกรณีกลุ่มเยาวชนอายุ 13-16 ปี ก่อเหตุรุมทำร้ายนางสาวบัวผัน ตันสุ หรือ ป้ากบ หญิงสติไม่ดี จนเสียชีวิต ที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นการกระทำที่มีความรุนแรง จนทำให้เรื่องนี้ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างของคนในสังคม จนมีการเรียกร้องให้มีการลดอายุการรับโทษของเยาวชนให้อยู่ที่ 12 ปีขึ้นไป

ซึ่งจากกรณีที่เกิดขึ้นทีมข่าว MONO29 ได้สอบถามในแง่มุมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับโทษของเด็กและเยาวชน กับนายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด โดยนายประยุทธ กล่าวว่า กฎหมายในปัจจุบัน กรณีกลุ่มวัยรุ่นที่ก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ถ้าดูจากอายุถือว่า เป็นเด็กส่วนใหญ่ ซึ่งคำว่าเด็กในพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 และ พรบ.ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 74 ระบุว่า บุคคลที่อายุกว่า 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี กระทำความผิด กฎหมายระบุไว้ว่าไม่ต้องรับโทษ ซึ่งทั้งกรณีของเยาวชนกลุ่มนี้ และเด็กอายุ 14 ปีที่ก่อเหตุที่พารากอน อายุยังไม่ถึง 15 ปี จึงไม่ต้องรับโทษ มีเพียงเยาวชน 1 คน ที่อายุ 16 ปี ซึ่งในทางกฎหมายจะต้องได้รับโทษ แต่กระบวนการพิจารณาโทษ จะต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ

นายประยุทธ กล่าวต่อว่า ที่กฎหมายระบุไว้แบบนี้ เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคีของสหประชาชาติ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กปี 2532 ที่วางหลักเกณฑ์ว่าบุคคลที่อายุไม่ถึง 18 ปี ต้องมีวิธีการกับเด็กในหลายๆประเด็น หนึ่งในนั้นคือ กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก ที่เป็นเรื่องสิทธิเด็ก ที่เป็นหลักสากล ที่ประเทศไทยเข้าไปร่วมเป็นภาคีเมื่อปี 2535

โดยกฎหมายในประเทศไทยได้นำมาปรับใช้ ซึ่งจากเดิมที่กฎหมายไทยกำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่ต้องรับโทษ แต่และแก้กฎหมายอาญาล่าสุดเมื่อปี 2551มาตรา 73-74 กำหนดให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่ต้องรับโทษ

มาตรา 73 ระบุไว้ว่า เด็กอายุยังไม่เกินสิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา 74 ระบุไว้ว่า เด็กอายุกว่าสิบปีแต่ไม่เกินสิบห้าปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. ว่ากล่าวตักเตือนแล้วปล่อยตัว หากศาลเห็นสมควรจะเรียกพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง มาตักเตือนด้วยก็ได้
  2. หากศาลเห็นว่าพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง สามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กให้พ่อแม่ หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดระวังไม่ให้เด็กก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด หากเด็กก่อเหตุร้ายขึ้น จะต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละ 10,000 บาท
  3. ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็ก เช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 56 ศาลจะแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานอื่นเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้น
  4. หากเด็กไม่มีพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ศาลจะมีคำสั่งส่งมอบตัวเด็กให้กับบุคคลหรือองค์กรที่ศาลเห็นสมควรเพื่อดูแล อบรม และสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด รวมตลอดถึงการกำหนดที่อยู่และการจัดให้เด็กมีงานทำตามสมควร
  5. ส่งตัวเด็กไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกอบรมเด็กตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เด็กอยู่จนเกินอายุ 18 ปี ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างไร ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล พิจาณาจากพฤติกรรมของเด็ก

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ยังระบุด้วยว่า สำหรับกรณีดังกล่าวจึงต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่กำหนด

ส่วนกรณีที่มีการตั้งคำถาม หรือ ถกเถียงกันถึงข้อกฎหมายที่ใช้อยู่ปัจจุบันว่าสอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมแตกต่างจากแต่ก่อน มีการก่อเหตุของเด็กและเยาวชนที่มีความรุนแรงมากขึ้น และอายุผู้ก่อเหตุลดลงเรื่อยๆ จึงมีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมาย ปรับลดอายุของเด็กและเยาวชนที่จะได้รับโทษลงหรือไม่

ตนเองอยากเสนอแนะแนวความคิดว่า อาจจะต้องทำให้เป็นเรื่องเร่งด่วน มีการหารือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจ อัยการ ศาล ตัวแทนสหประชาติ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เสนอมุมมองในการที่จะปรับแก้กฎหมาย และนำเรื่องเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นชอบต่อไป

แต่ในอีกมุมหนึ่ง จากทฤษฎีสากล ระบุว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่มีพฤติกรรมอาชญากร อาจจะกระทำความผิดเนื่องจาก ประสบการณ์ชีวิตยังน้อย ,อยู่ในวัยคึกคะนอง ,มีพฤติกรรมตามเพื่อน และมีความอยากรู้อยากลอง ไม่เหมือนวัยผู้ใหญ่ที่ก่อเหตุอาชญากรรม เพราะมีความแค้น หรือ อยากมีอยากได้ ดังนั้นถ้าเอาเด็กไปอยู่ภายใต้ทฤษฎีของผู้ใหญ่ จะเกิดความเสียหายตามมาได้ อาทิ 1. สูญเสียทรัพยากรบุคคลที่พลั้งพลาดกระทำความผิด และ 2.หากเด็กเหล่านี้ถูกผลักดันเข้าสู่กระบวนการผู้ใหญ่ เมื่อเข้าไปอยู่ในเรือนจำ ก็จะยิ่งซึมซับพฤติการณ์อาชญากรรม ทำให้อาจจะได้อาชญากรวัยหนุ่มเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก เมื่อพวกเขาพ้นโทษออกมา และอาจจะเป็นภัยต่อสังคม

ฉะนั้น การจะปรับแก้กฎหมายให้ลดอายุเด็กที่ต้องได้รับโทษ จึงต้องเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องหารือร่วมกัน ซึ่ง ณ เวลานี้ที่กฎหมายยังไม่มีการแก้ไข ก็จะต้องยึดหลักปฏิบัติภายใต้กฎหมายเดิมในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในส่วนของเยาวชนที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ตามกฎหมาย พรบ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ ระบุไว้ว่า
ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิจารณาโอนย้ายคดีของเด็กและเยาวชนที่อายุยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ แต่พิจารณาโดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญา และนิสัยแล้ว เห็นว่าในขณะกระทำความผิด หรือระหว่างการพิจารณาคดีบุคคลดังกล่าวมีสภาพเช่นเดียวกับบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปก็สามารถโอนคดีไปให้ศาลที่พิจารณาคดีบุคคลธรรมดาพิจารณาคดีได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลเช่นกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง