คัดลอก URL แล้ว

เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติถึงแก่ชีวิต ประชาชนไทยทุกคนเข้ารักษาที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ ด้วยสิทธิ UCEP

ประชาชนไทยทุกคน ไม่ว่าจะมีสิทธิการรักษาใด ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง บัตร 30 บาท) ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ฯลฯ  หากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติถึงแก่ชีวิต หรือประสบอุบัติเหตุร้ายแรง สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนที่ใกล้ที่สุด โดยยื่นเพียงบัตรประชาชนใบเดียวและแจ้งใช้สิทธิ UCEP ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP)ซึ่งจะเข้ารับการรักษาได้ในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

สำหรับสิทธิ UCEP ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาจนพ้นวิกฤตและสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย โดยเมื่อพ้น 72 ชั่วโมง จะส่งรักษาต่อที่หน่วยบริการประจำ

6 อาการที่เข้าข่ายภาวะฉุกเฉินวิกฤต ประกอบด้วย

1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ

2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง

3.เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง

4.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม

5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด

6.มีอาการอื่นร่วมที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมอง ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

เจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร. 1669

ย้ำ! ต้องฉุกเฉินระดับวิกฤตถึงแก่ชีวิตเท่านั้น หากป่วยฉุกเฉินแต่ ‘ไม่วิกฤตถึงแก่ชีวิต’ สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐที่ใกล้ที่สุด ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยยื่นเพียงบัตรประชาชนใบเดียว

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

1.สายด่วน สปสช. 1330 (ตลอด 24 ชม.)

2.ช่องทางออนไลน์

• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 • Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง