ประเด็น ‘กระเช้าภูกระดึง’ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย ถูกนำกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง ภายหลังเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ได้เห็นชอบในหลักการอนุมัติ “โครงการเขียนแบบก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง” จ.เลย โดยส่งมอบให้สำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อ
โดยนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า จะเตรียมขออนุมัติงบประมาณ 28 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบสำหรับการสำรวจ และออกแบบการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้า
พร้อมเสนอให้มีการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงให้สำเร็จในยุคนี้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้ให้ทุกพื้นที่
ร่วม 40 ปี กับโครงการ ‘กระเช้าภูกระดึง’
การเดินหน้าผลักดันโครงการกระเช้าภูกระดึง จากข้อมูลพบว่ามีการเสนอถึงเรื่องการใช่ระบบเคเบิ้ลในการขนส่งมาตั้งแต่ปี 2525 โดยอุทยานแห่งชาติภูกระดึง กระทั่งในปี 2539 (ครม.ในสมัยนั้น) ได้มีมติรับทราบการพิจารณาเรื่อง ‘กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง’ แต่ท้ายที่สุดก็ต้องพับโปรเจกต์ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน และต้องศึกษาได้ผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้น
ต่อมาในยุคสมัยรัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2547 ปัดฝุ่นรื้อแผนการผลักดันโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงขึ้นมาอีกครั้ง แต่ก็ไม่สามารถผลักดันไปจนสำเร็จได้ เนื่องด้วยกระบวนการศึกษาที่ต้องรอบครอบ จนลากยาวมาจนถึงสมัยรัฐบาลลุงตู่ โปรเจกต์ดังกล่าวก็ไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาศึกษาอีก
กระทั่งรัฐบาลเศรษฐา ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอีกครั้ง หมายที่จะผลักดันให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วง เพื่อเป็นผลงานในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งกระแสคัดค้านและแรงสนับสนุนก็มีเป็นจำนวนมากเช่นกัน ทำให้หลายฝ่ายมองว่า โปรเจกต์ (ปัดฝุ่น) นี้ ก็คงไม่แคล้วถูกพับเก็บไว้เช่นเดิม
‘กระเช้าภูกระดึง’ กับข้อสังเกตของ มูลนิธิสืบฯ
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้มีการลงบทความถึงโปรเจกต์นี้ พร้อมการแสดงความคิดเห็นของนักอนุรักษ์ว่าทำไมถึงไม่อยากให้มีกระเช้าภูกระดึงบนพื้นที่ภูเขารูปหัวใจที่สวยงามแห่งนี้ อะไรที่อาจจะต้องถูกทำลายลงหากมีการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ในประเด็น
- 6 เหตุผล ทำไมไม่เอากระเช้าภูกระดึง
- อุทยานแห่งชาติเพื่อธรรมชาติหรือเพื่อธุรกิจ
- กระเช้าภูกระดึง คุ้มค่า คุ้มใคร?
- กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง พาหนะ หรือหายนะ
- กระเช้าภูกระดึง มโนโปรเจ็คท์
อ่านอ่านสาส์นสืบ ฉบับ กระเช้าภูกระดึง มโนโปรเจ็คท์ >>> https://bit.ly/3t1UdSe
มาทำความรู้จัก ‘ภูกระดึง’
อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตั้งอยู่ที่อำเภอภูกระดึงในจังหวัดเลย เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของประเทศไทย เนื่องจากมีธรรมชาติที่สวยงาม ในแต่ละปีจึงมีคนมาเที่ยวเฉลี่ยหลายหมื่นคน โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวมักมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปพักผ่อนบนภูกระดึงจำนวนมาก ภูกระดึงได้รับการจัดตั้งเป็นป่าสงวนแห่งชาติในปี พ.ศ. 2486 และเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2502
โดยเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่สองถัดจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกอาเซียน แห่งที่ 57
อุทยานตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ครอบคลุมพื้นที่ 348.12 ตารางกิโลเมตร (217,575 ไร่) ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด โดยมีที่ราบบนยอดภูกระดึง ประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร (37,500 ไร่) มีความสูงอยู่ระหว่าง 400-1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล จุดสูงสุดอยู่ที่บริเวณคอกเมย มีความสูง 1,316 เมตร
เส้นทางขึ้นไปยังยอดเขาภูกระดึง
- 1.เส้นทางขึ้นที่อำเภอภูกระดึง : เป็นเส้นทางเก่าแก่และได้รับความนิยมมากที่สุด นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นเขาในเส้นทางนี้ได้ที่อำเภอภูกระดึง ณ ที่ทำการอุทยาน ในเส้นทางขึ้นจะมีบริเวณที่พักและร้านอาหารหลายช่วง มีระยะทาง 5.5 กม.จากที่ทำการถึงหลังแป และจากหลังแปถึงที่พักประมาณ 3.6 กม.
- 2.เส้นทางขึ้นที่อำเภอน้ำหนาว : นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางขึ้นไปยังยอดเขาภูกระดึงได้ที่บ้านฟองใต้อำเภอน้ำหนาว ซึ่งเป็นเส้นทางขึ้นเขาเส้นทางใหม่ โดยจะขึ้นไปที่ผาหล่มสักโดยตรง มีระยะมีระยะทาง 5.2 กิโลเมตรจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ลย.5 (หนองผักบุ้ง) ถึงผาหล่มสัก