กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจับกุมผู้ต้องหา นางสาววิภาฯ ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดธัญบุรี ที่ 340/2566 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2566 ในความผิดฐาน “เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวง, มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน, มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ และเป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์นั้นได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ในงวดหนึ่งงวดใดได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย”
สืบเนื่องจากผู้เสียหายจำนวนหลายราย ได้เข้ามาพบเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนกองปราบ เพื่อร้องขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม ดำเนินการสืบสวนจับกุมท้าวแชร์ชื่อ น.ส.วิภาฯ หรือ “แม่ต๋อย” ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดธัญบุรี ที่ 340/2566 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2566 ในความผิดฐาน “เป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวง, มีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน, มีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ และเป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์นั้นได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่จะได้รับทุนกองกลางในการเข้าร่วมเล่นแชร์ในงวดหนึ่งงวดใดได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย” อยู่ระหว่างการหลบหนีและไม่สามารถจับกุมตัวได้
โดยผู้เสียหายได้แจ้งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนทราบว่า น.ส.วิภาฯ หรือ ต๋อย ปัจจุบันประกอบอาชีพเป็นแคดดี้ของสนามกอล์ฟแห่งหนึ่ง ในพื่นที่ จว.ปทุมธานี ซึ่งก่อนหน้านี้ น.ส.วิภาฯ ได้ทำงานในบริษัทแห่งหนึ่งร่วมกับผู้เสียหายในคดี และเป็นที่รู้จักกับกลุ่มผู้เสียหายเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นที่ไว้วางใจของพนักงานบริษัทด้วยกัน ต่อมาน.ส.วิภาฯ ได้ผันตัวเป็นท้าวแชร์ ได้เปิดกลุ่มไลน์ ชักชวนผู้เสียหายที่เป็นเพื่อนร่วมงาน หรือบุคคลรู้จักกันมานาน และไว้ใจกัน ให้ร่วมลงทุนเล่นวงแชร์กับตนโดยเริ่มต้นจากการเป็นท้าวเล่นแชร์แบบรายเดือน จนกระทั่งไม่สามารถหาเงินมาหมุนได้ทันจึงใช้วิธีแบ่งการเล่นแชร์ออกเป็นวงแชร์แบบรายสัปดาห์ และรายเดือน เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง
ซึ่งผู้ต้องหาจะเป็นคนทำหน้าที่ จัดการและรวมเงินวงแชร์ หรือ “ท้าวแชร์” โดยมีการเปิดวงแชร์รวมกันกว่า 10 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มมีสมาชิกวงแชร์มากกว่า 30 คน ยอดแชร์กว่าวงละ 100,000 บาท รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 1 ล้านบาท ผู้เสียหายจึงได้หลงเชื่อร่วมเล่นวงแชร์กับผู้ต้องหา
ต่อมา น.ส.วิภาฯ ไม่สามารถหมุนเงินมาจ่ายให้สมาชิกได้ทัน และได้ผ่อนผันเรื่อยมา ซึ่งกลุ่มของผู้เสียหายได้ทวงถามมาตลอดแล้ว แต่ได้รับการบ่ายเบี่ยงมาโดยตลอด จึงทราบว่า การเปิดแชร์ของผู้ต้องหา มีการนำหน้าม้า (สมาชิกแชร์ที่ไม่มีตัวตนจริง) เข้ามาร่วมเล่นวงแชร์ที่ผู้เสียหายเล่น และเมื่อถึงเวลาเปียแชร์ ผู้ต้องหาจะอ้างชื่อที่นำมาแอบแฝงในวงแชร์นั้น สามารถเปียแชร์ได้ และให้ดอกในราคาที่สูง
ต่อมาเมื่อขาดสภาพคล่อง ก็จะพยายามล้มหรือยกเลิกวงแชร์นั้น เมื่อผู้เสียหายทวงถามถึงเงินในวงแชร์ ผู้ต้องหาก็จะบ่ายเบี่ยงอ้างว่า ไม่สามารถเก็บเงินตามรายชื่อที่เปียแชร์ไปได้ และหลบหนีหายไป ไม่สามารถติดต่อได้ ทำให้มีผู้เสียหายได้รับความเดือดร้อนจากวงแชร์ดังกล่าวจำนวนหลายราย จึงเดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีผู้เสียหายที่ยังไม่แจ้งความดำเนินคดีอีกเป็นจำนวนมาก เนื่องจาก น.ส.วิภาฯ ได้ข่มขู่ผู้เสียหายว่า หากไปแจ้งความจะไม่คืนเงินให้ ทำให้ผู้เสียเกรงว่าจะไม่ได้รับเงินคืน จึงไม่อยากดำเนินการตามกฎหมาย
ต่อมาผู้เสียหายทนพฤติกรรมการข่มขู่และ ไม่เชื่อคำหลอกลวงที่ น.ส.วิภาฯ ให้สัญญาว่าจะคืนเงิน ทุกบาท ทุกสตางค์ ให้กับลูกแชร์ทุกราย จึงได้รวมตัวไปแจ้งความร้องทุกข์ไว้กับ สภ.คลองหลวง พนักงานสอบสวน จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออนุมัติ ออกหมายจับ น.ส.วิภาฯ ต่อศาลจังหวัดธัญบุรี เพื่อจับกุม น.ส.วิภาฯ มาดำเนินคดีตามกฎหมาย
จากสอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา