เมื่อวันที่ 19 พ.ย.สำนักวิจัยสยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เสนอผลสำรวจ เรื่อง “วันลอยกระทง กับคนที่คอย” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,100 ตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติ ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 16 – 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา พบว่าคนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.48 จะไปงานในวันลอยกระทง ร้อยละ 21.95 ไม่แน่ และร้อยละ 6.57 ไม่ไป ผลสำรวจพบด้วยว่า ร้อยละ 62.06 คุยกับคนที่เพิ่งรู้จักในโลกโซเชียล ร้อยละ 28.68 เดินทางท่องเที่ยวกับคนที่เพิ่งรู้จักในโลกโซเชียล ร้อยละ 17.97 พาคนที่เพิ่งรู้จักในโลกโซเชียลไปที่บ้านพัก และร้อยละ 17.74 นอนพักในห้องพักเดียวกันกับคนที่เพิ่งรู้จักในโลกโซเชียล
แบบสอบถามถามด้วยเกี่ยวกับ ความตั้งใจจะไปเที่ยวงานวันลอยกระทงกับคนเพิ่งรู้จักในโลกโซเชียล พบว่า ร้อยละ 31.31 ตั้งใจจะไประดับปานกลางถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 68.69 ตั้งใจจะไประดับน้อยถึงไม่เลย นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ร้อยละ 40.91 ตั้งใจจะมีเพศสัมพันธ์ในวันลอยกระทง ร้อยละ 25.44 ไม่แน่ และร้อยละ 33.65 ไม่มี
อาจารย์ธนกร พงษ์ภู่ อาจารย์ประจำสำนักวิจัยสยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม กล่าวว่า วันลอยกระทงที่จะมาถึงนี้มีประชาชนจำนวนมากรอคอยจะไปเที่ยวงานลอยกระทง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือคนที่เพิ่งรู้จักกันผ่านทางโลกโซเชียลและจะชวนกันไปท่องเที่ยวที่ต่าง ๆ รวมถึงหลับนอนห้องพักเดียวกัน จึงจำเป็นต้องช่วยกันส่งสัญญาณเตือนภัยใกล้ตัวไปยังประชาชนทุกคนให้ระมัดระวังตัว การที่เพิ่งรู้จักกันในโลกโซเชียลอาจจะยังมีความเสี่ยงสูงต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ ยิ่งผลสำรวจพบว่า เกือบ 1 ใน 3 จะชวนกันไปเที่ยวงานลอยกระทงของกลุ่มคนที่เพิ่งรู้จักกันในโลกโซเชียล ยิ่งจะต้องช่วยกันสอดส่องดูแลความปลอดภัยของกันและกัน เริ่มตั้งแต่ ภายในครอบครัวเดียวกัน บ้านเดียวกัน ชุมชนเดียวกัน และในพื้นที่จัดงานลอยกระทงให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของทุกคน นอกจากนี้ คนจำนวนมากตั้งใจจะมีเพศสัมพันธ์ในวันลอยกระทงจึงควรช่วยกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์เสริมสร้างความตระหนักในเรื่องสุขภาพจากการมีเพศสัมพันธ์อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น.