กรรมการร่างกฎหมายประจำกฤษฎีกา เผย มีใบสั่งคงค้างเก่ากว่า 16 ล้านใบ สามารถใช้ปรับเป็นพินัยได้ มีบทเฉพาะกาลรองรับ ระบุ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีข้อหารือการบังคับใช้กฎหมายพินัยหลายประเด็น รอคณะกรรมการฯให้ความเห็นเป็นข้อสรุปชัดเจน
นางสาวธำรงลักษณ์ ลาพินีกรรมการร่างกฎหมายประจำ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงหลักการของพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 คือ เป็นกฎหมายกลางในการปรับเป็นพินัย และเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวและความผิดที่มีโทษปรับทางการปกครองที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นความผิดทางพินัย // ทั้งนี้ หากย้อนดูกฎหมายทางอาญาในประเทศไทยมีมากกว่า 900 กว่าฉบับ ซึ่งยังไม่นับรวมกับกฎหมายอื่นๆ
โดยในการกำหนดค่าปรับเป็นพินัย จะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับข้อเท็จจริง ประกอบด้วย 1.ระดับความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้น 2.ความรู้สึกผิดชอบ อายุ ประวัติ ความประพฤติ การศึกษา อาชีพ รวมถึงดูว่าเป็นความผิดซ้ำซากหรือไม่ 3.ผลประโยชน์ที่ผู้กระทำความผิดหรือบุคคลอื่นได้รับจากการกระทำความผิด และ 4.สถานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิด
ซึ่งข้อดีของการปรับเป็นพินัย คือ สามารถผ่อนชำระได้ / กรณีทำผิดเพราะยากจนหรือจำเป็นต้องดำรงชีพสามารถปรับต่ำกว่าที่กำหนด ,ตักเตือนโดยไม่ปรับ หรือ ทำงานบริการสังคมแทนได้ / ไม่มีการกักขังแทนค่าปรับ / ไม่มีการบันทึกประวัติอาชญากรรม
ทั้งนี้ ความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ เป็นหนึ่งในกฎหมายที่มีการเปลี่ยนจากคดีอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียว มาเป็นโทษปรับพินัย และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะมีการบังคับใช้แล้วแต่ในเรื่องของความชัดเจนในรายละเอียดต่างๆ อย่างครบทุกมิติทางคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัย อยู่ระหว่างการเร่งหารือในรายละเอียดต่างๆ // โดยทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการส่งข้อหารือมายังคณะกรรมการในหลายประเด็น อาทิ ตัวใบสั่งเดิมยังสามารถใช้ได้หรือไม่ตามกฎหมายจราจรเดิม / เจ้าพนักงานจราจรที่มีอำนาจออใบสั่งตามกฎหมายจราจรเดิม ยังมีอำนาจสั่งปรับเป็นพินัยได้หรือไม่ / รูปแบบในการออกใบสั่ง สามารถใช้ได้อยู่ต่อไปหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันมีใบสั่งจราจรเก่าคงค้างอยู่ถึง 16 ล้านใบ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะดำเนินการอย่างไรในช่วงรอยต่อการปรับเปลี่ยน / ผู้ที่อำนาจสั่งปรับเป็นพินัย จะยังสามารถเป็นเจ้าหน้าที่พนักงานจราจรเดิม หรือจะต้องแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจปรับเป็นพินัยใหม่หรือไม่ ซึ่งข้อหารือทั้งหมด ทางคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยจะนำไปพิจารณา
ส่วนกรณีของปัญหาใบสั่งจราจรค้างจ่ายค่าปรับ เป็นปัญหาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติพยายามหาทางแก้มาตลอด ซึ่งปีนี้มีใบสั่งจราจรคงค้างกว่า 16 ล้านใบนั้น // นางสาวธำรงลักษณ์ ให้ความเห็นว่า ใบสั่งจราจรที่ค้างจ่าย ทางกฤษฏีกาเห็นว่า คดีจราจรที่ปรับมาใช้โทษปรับทางพินัยสามารถทำได้เช่นกัน โดยมีบทบัญบัญญัติ(บทเฉพาะกาล) รองรับว่า ถ้ากระบวนการอยู่ในชั้นพิจารณาเปรียบเทียบของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจเปรียบเทียบตามกฎหมายเดิมก็ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายการปรับเป็นพินัย สามารถที่จะสั่งปรับเป็นพินัยได้
หากว่าเรื่องอยู่ในชั้นพนักงานอัยการ พนักงานอัยการจะต้องส่งกลับมายังเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจปรับเป็นพินัย เพื่อดำเนินการปรับเป็นพินัยตามกฎหมายฉบับนี้ // แต่หากเรื่องอยู่ในชั้นศาล มีการส่งฟ้องแล้ว ศาลก็สามารถพิจารณาออกคำสั่งปรับเป็นพินัยได้ในส่วนนี้ก็มีบทเฉพาะกาลรองรับไว้ ซึ่งในประเด็นนี้ก็จะถูกนำไปพิจารณาหารือด้วยเช่นกัน ในส่วนของรูปแบบต่างๆ รวมถึงการกรอกแบบฟอร์มรายละเอียดการชำระค่าปรับด้วยว่าจะสามารถใช้แบบฟอร์มเดียวกันกับแบบฟอร์มใหม่ได้หรือไม่
ทั้งนี้ หากมีความเห็นคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ที่จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนจะมีการแจ้งหน่วยงานต่างๆ ให้ได้รับทราบและจะเผยแพร่ความผ่านทางเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา