คัดลอก URL แล้ว
ประวัติ “อาศิส พิทักษ์คุมพล” จุฬาราชมนตรีคนที่ 18

ประวัติ “อาศิส พิทักษ์คุมพล” จุฬาราชมนตรีคนที่ 18

นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีคนที่ 18 ของประเทศไทย  เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2490 เกิดที่ ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา  เป็นบุตรคนโตจากทั้งหมดสี่คนของนายมะแอ(ฮัจญีอิสมาแอล) กับ นางน๊ะ (อามีนะห์) เบ็ญสะอีด

มีน้อง3 คนคือ นางสาวฟาตีม๊ะ พิทักษ์คุมพล,นายดนเล๊าะ พิทักษ์คุมพล,นางสาเร๊าะ พิทักษ์คุมพล

คู่สมรส : นางร่อมิอ๊ะ พิทักษ์คุมพล มีบุตร 4 คน ชาย 3 คน หญิง 1 คน คือ นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล,นายอิธวัฒน์ พิทักษ์คุมพล,นายอาลาวี พิทักษ์คุมพล และนางสาวฟาดีลา พิทักษ์คุมพล

การศึกษา :

ศึกษาสายสามัญในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านหัวเขา ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา และในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสงเคราะห์ประชา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา สายศาสนาศึกษาที่ อัลมัดรอซะฮ์อัลนัซซอบีย๊ะฮ์ ต.บ้านนา อ.จะนะ จ.สงขลา และ อัลมัดรอซะฮ์อัลอัดรีซียะฮ์ ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

การทำงาน

หลังจากนายประเสริฐ มะหะหมัดได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นจุฬาราชมนตรี ได้เสนอชื่อของอาศิสเพื่อโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกรรมกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และได้มอบหมายให้ดูแลงานวิชาการร่วมกับนายวินัย สะมะอุน ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาได้ถึงแก่กรรม คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ท่านเป็นประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้มาโดยตลอด และเมื่อพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ได้ประกาศใช้ โดยกำหนดให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยประกอบด้วยกรรมการผู้ที่เป็นผู้แทนของแต่ละจังหวัด ซึ่งท่านก็ได้รับการเลือกให้เป็นผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลาในคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยเคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการและรองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในชุดที่มีนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ อดีตจุฬาราชมนตรี เป็นประธานกรรมการ

ในปี พ.ศ. 2539 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาสัดส่วนผู้นำศาสนาอิสลาม นอกจากนั้นแล้วยังเป็นที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการในการจัดทำหลักสูตรอิสลามศึกษาเพื่อใช้ในสถานศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงนาย ทักษิณ ชินวัตร ได้แต่งตั้งให้เป็นกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เพื่อศึกษาปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาตใต้และเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว

วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ได้รับลงคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 จากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรีตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ซึ่งนับโดยเป็นคนที่ 2 ต่อจากนายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ประวัติการทำงาน :

– ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา (ปี พ.ศ.2530 – 2553)

– รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คนที่ 1

– สมาชิกวุฒิสภา (ปี พ.ศ. 2539 – 2543)

– คณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ

– คณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ตากใบ

– ประธานชมรมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้

– คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อสอบสวนและศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา

– คณะทำงานเผยแพร่แนวทางที่ถูกต้องตามหลักศาสนา กระทรวงมหาดไทย

– กรรมการจัดทำหลักสูตรและตำราอิสลามศึกษา กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ

– กรรมการจัดทำหลักสูตรและตำราอิสลามศึกษา สมาคมคุรุสัมพันธ์

– คณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

– คณะกรรมการส่งเสริมกิจการวิทยาลัยอิสลามยะลา

– สมาชิกสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

– ประธานคณะกรรมการการยุติธรรม ความเสมอภาค และความมั่นคง ในสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

– ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการฮัจญ์ ในสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

– คณะกรรมาธิการวิสามัญติดตาม เร่งรัด ประเมินผลการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา

– ประธานคณะทำงานปรับปรุง ยกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยครอบครัวและมรดกตามหลักการอิสลาม ในสภาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

– ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามและประเมินผลการดำเนินการกิจการฮัจญ์ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตาม เร่งรัด ประเมินผลการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา

– คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความ ไม่สงบ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

– คณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

– ประธานคณะทำงานศึกษา รวบรวม จัดทำสภาพปัญหาการใช้กฎหมายอิสลาม สำนักบริหารงานยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

– คณะอนุกรรมการนโยบายและประสานงานกระบวนการยุติธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์ประสานราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้

– ที่ปรึกษาประจำคณะอนุกรรมาธิการกิจการศาสนาอิสลาม ในคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร

– คณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

– คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย

ผลงาน :

– ร่วมจัดทำหลักสูตรและตำราอิสลามศึกษา กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ

– ร่วมจัดทำหลักสูตรและตำราอิสลามศึกษา สมาคมคุรุสัมพันธ์

– หนังสือ “อัลบิดอะฮฺ” สำนักพิมพ์ ส.วงศ์เสงี่ยม

– หนังสือ “350 ฮาดิษ”

– หนังสือ “40 ฮาดิษ ของอัลนาวาวีย์”

– บทเรียนเรื่อง “เอกภาพอัลเลาะฮ์ (เตาฮีด) จากอัลกุรอ่าน”

– หนังสือ “สาระเบื้องต้นของศาสนาอิสลามสำหรับเยาวชน” พ.ศ.2535

– หนังสือ “คุณค่าตับลีฆ (การเผยแพร่อิสลาม)”

– คู่มือ “การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย”

– คู่มือแนะนำอิสลามและข้อปฏิบัติต่อมุสลิมสำหรับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

– คู่มือเกี่ยวกับ “คุตบะฮ์”

– บทความ “การบริหารมัสยิด”

– บันทึกการเดินทางครั้งยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดในชีวิต (การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์)

– บทความ “ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดและแนวทางแก้ไขตามระบบอิสลาม”

– มาตรการทางสังคมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนมุสลิม (หุกมปากัต) พื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง (เฉพาะจังหวัดสงขลา) พ.ศ.2546

– บทความ “ปอเนาะในกระแสความรุนแรง : บทบาทที่ต้องทบทวน”

– สอนวิชาตัฟซีร, ฮาดิษ, นาฮู ในสถาบันปอเนาะ

– อบรมอิหม่ามหลักสูตร “พัฒนาผู้บริหารองค์กรมัสยิด” วิชาฟิกฮุลมุอามะลาต, ฟิกฮุลอิบาดาต

– วิถีมุสลิม “จริยธรรมพื้นฐานสำหรับเยาวชน”

ถึงแก่อนิจกรรม

ในปี พ.ศ. 2566 ได้เข้ารับการรักษาอาการป่วย โดยเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม เวลา 10:32 น. โดยมีกำหนดจัดพิธีละหมาดญะนาซะห์ (ละหมาดขอพร) ในวันที่ 23 ตุลาคม เวลา 10.00 น. ณ มัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลา ตำบคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ที่มา : สำนักจุฬาราชมนตรี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง