วันนี้ 16 ต.ค.66 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานช่วงวันที่ 26 กันยายน – 16 ตุลาคม 2566 มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 37 จังหวัด 151 อำเภอ 579 ตำบล 2,936 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 61,692 ครัวเรือน ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมใน 6 จังหวัด 21 อำเภอ 88 ตำบล 497 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 14,054 ครัวเรือน ภาพรวมระดับน้ำลดลง ประสานพื้นที่เร่งให้การช่วยเหลือประชาชนแล้ว
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ระหว่างวันที่ 26 กันยายน – 16 ตุลาคม 2566 เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 37 จังหวัด จังหวัด 151 อำเภอ 579 ตำบล 2,936 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 61,692 ครัวเรือน ปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 16 ต.ค. 66 เวลา 06.00 น.) ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 6 จังหวัด
ได้แก่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี และนครศรีธรรมราช รวม 21 อำเภอ 88 ตำบล 497 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 14,054 ครัวเรือน แยกเป็น
- 1) เพชรบูรณ์ น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ รวม 4 ตำบล 8 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 360 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- 2) พิษณุโลก น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ วังทอง บางระกำ และเมืองพิษณุโลก รวม 11 ตำบล 34 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 351 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- 3) ร้อยเอ็ด น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ เชียงขวัญ ทุ่งเขาหลวง และจังหาร รวม 3 ตำบล 4 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 106 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- 4) กาฬสินธุ์ น้ำท่วมในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ เมืองกาฬสินธุ์ ร่องคำ ฆ้องชัย ยางตลาด กมลาไสย สามชัย ท่าคันโท หนองกุงศรี สหัสขันธ์ และห้วยเม็ก รวม 59 ตำบล 399 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 11,152 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- 5) อุบลราชธานี น้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ เมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ และสว่างวีระวงศ์ รวม 10 ตำบล 49 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,070 ครัวเรือน ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- 6) นครศรีธรรมราช น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอฉวาง รวม 1 ตำบล 3 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 15 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงเกือบทุกพื้นที่ ยังคงมีที่จังหวัดกาฬสินธุ์และอุบลราชธานีที่มีระดับน้ำเพิ่มขึ้น สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน
โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เครื่องสูบน้ำ รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย รถผลิตน้ำดื่ม รถประกอบอาหาร เพื่อแก้ไขปัญหา เร่งระบายน้ำ และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป