วันนี้ (14 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ) ที่ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง กทม. มูลนิธิ 14 ตุลา และญาติวีรชน จัดงานรำลึกครบรอบ 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ช่วงหนึ่งของกิจกรรม มี กลุ่มนักกิจกรรมแต่งกายคล้ายนักโทษ ยืนชูป้ายข้อความเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้นักกิจกรรมทางการเมือง โดยป้ายข้อความระบุว่า คืนพ่อให้ลูก อานนท์ นำภา, คืนเสาหลักให้ครอบครัว น้ำ วารุณี, คืนพ่อให้ลูก อาลีฟ วีรภาพ เป็นต้น
ทั้งนี้ กลุ่มนักกิจกรรมดังกล่าว เดินมาคุกเข่าต่อหน้าตัวแทนพรรคการเมืองซึ่งนั่งรวมกันอยู่ เช่น วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นาย ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล, นาย ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นาย จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มนักกิจกรรมมาเพื่อพบ นพ.ชลน่าน ที่เป็นตัวแทนรัฐบาลมาร่วมกิจกรรมเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้ผู้ที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี เรียกร้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย สสร. และให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังจากนั้นได้ก้มกราบที่ตัวแทนพรรคการเมืองแล้วออกไปทำกิจกรรมอื่นๆ
โดยกลุ่มนักกิจกรรมมีแถลงการณ์ 50 ปี 14 ตุลา ตามหารัฐธรรมนูญใหม่ปล่อยนักโทษการเมือง ยกเลิก 112 เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เริ่มต้นจากการเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญ แต่กลุ่มผู้เรียกร้องกลับถูกจับกุมคุมขังเป็น 13 ขบถ ประชาชนจึงลุกขึ้นสู้ครั้งใหญ่ให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้ง 13 คน และขับไล่ 3 ทรราช ถนอม-ประภาส-ณรงค์เป็นผลสำเร็จ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของวีรชนเป็นจำนวนถึง 77 คนด้วยกัน
ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ประชาชนตื่นตัวเรื่องสิทธิ เสรีภาพและประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก มีการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2517 ที่ขยายสิทธิเสรีภาพมากขึ้น แต่โครงสร้างการเมืองยังคงเป็นเผด็จการด้วยการแต่งตั้งรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ตามมาด้วยรัฐบาลคึกฤทธิ์และเสนีย์ ปราโมชที่เป็นราชนิกูลและเป็นเครือข่ายอนุรักษ์นิยม
ซึ่งปล่อยให้ทหารและตำรวจเข่นฆ่าประชาชนในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 เจตนารมณ์ 14 ตุลาคม 2516 ของการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิทธิ เสรีภาพและประชาธิปไตย จึงถูกทำลายลงไปจากการทำรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 และใช้อำนาจเผด็จการทหารแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มโทษจำคุกให้รุนแรงถึง 15 ปี กลายเป็นเครื่องมือจำกัดเสรีภาพและทำลายล้างพรรคการเมืองประชาธิปไตย
ล่วงมาถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2563 คณะราษฎร 2563 ได้เรียกร้องขับไล่ผู้นำเผด็จการประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกร้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนมีส่วนร่วม และเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ข้อเรียกร้องสองข้อแรกแทบไม่ได้ต่างกันนักกับข้อเรียกร้องในเดือนตุลาคม 2516 อาจจะมีข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นของใหม่ เป็นการผลักดันการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยจาก 14 ตุลาคมให้ต่อเนื่อง
แกนนำสำคัญของการชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563 คือทนายอานนท์ นำภา ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ขณะนี้ถูกคุมขังเป็นนักโทษการเมืองอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ พร้อมกับนักโทษการเมืองอื่น ๆ ที่เคยต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยอีกเป็นจำนวน 36 คนด้วยกัน และยังมีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จำนวน 258 คน
คณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112) ได้รณรงค์ให้มีการยกเลิกมาตรา 112 เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า 250,000 คนผ่านทางเว็บไซต์ No112.org เสนอต่อรัฐสภาให้มีการแก้ไขมาตรา 112 แต่กลับถูกสั่งปิดกั้น อันแสดงให้เห็นถึงภาวะถดถอยของเสรีภาพและประชาธิปไตยในช่วง 50 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ในโอกาสครบรอบ 50 ปีเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 คณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112) ขอร่วมรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นและยืนยันสานต่อเจตนารมณ์ของคนเดือนตุลา 2516 โดยมีเรียกร้องดังต่อไปนี้ นักโทษการเมืองในคดีที่ยังไม่ถึงที่สุดจะต้องได้รับสิทธิการประกันตัวตามรัฐธรรมนูญ 2560 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายระหว่างประเทศ
รัฐบาลปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองและผู้ถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมืองในทุกกรณี ยกเลิกมาตรา 112 เพื่อประกันสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน
ภาพ – วิชาญ โพธิ