คัดลอก URL แล้ว
หน่วยคอมมานโด – หนุมาน กองปราบ ต่างกันอย่างไร

หน่วยคอมมานโด – หนุมาน กองปราบ ต่างกันอย่างไร

กลายเป็นประเด็นใหญ่สะเทือนวงการสีกากี กับปฏิบัติการบุกค้นบ้าน “บิ๊กโจ๊ก” หรือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ที่นำโดย พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. รรท. ผบก.ทล. สนธิกำลัง บก.สอท. นำกำลังพร้อมอาวุธครบมือ เข้าตรวจค้น บ้านพักของ ‘บิ๊กโจ๊ก’ ภายในหมู่บ้านแห่งหนึ่งหลังสโมสรตำรวจ ซอยวิภาวดีรังสิต 60 แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. เมื่อช่วงเช้าวานนี้ (25 ก.ย.66)

สำหรับการตรวจค้นครั้งนี้ ทางตำรวจมีข้อมูลพบความเชื่อมโยงกับกลุ่มพนันออนไลน์ โดยพบว่ามีกลุ่มตำรวจ 8 นาย ที่ถูกออกหมายจับเมื่อความเชื่อมโยงในคดีดังกล่าว ซึ่งมีตำรวจบางนายเป็นลูกน้องของ ‘บิ๊กโจ๊ก’ จึงนำไปสู่การตรวจค้นดังกล่าว

อย่างไรก็ตามอีกหนึ่งประเด็นที่สังคมตั้งคำถาม คือ ปฏิบัติการของตำรวจครั้งนี้ ทำไมถึงต้องใช้หน่วยคอมมานโด (SSD) เข้าร่วมในการปฏิบัติภารกิจ และระหว่างหน่วยคอมมานโด กับ หนุมาน กองปราบ มีความแตกต่างกันอย่างไร ปฏิบัติภารกิจอะไรบ้าง วันนี้ทีมข่าว Mono29 ได้รวบรวมข้อมูลไว้ดังนี้

หน่วยคอมมานโด คืออะไร

กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ หรือ ที่รู้จักในชื่อ ตำรวจหน่วยคอมมานโด (Special Service Division : SSD) เป็นหน่วยตำรวจที่มีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธและยุทธวิธีพิเศษ สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษนั้น แต่เดิมคือหน่วยคอมมานโด ก่อตั้งขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2499 โดยพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ได้คัดเลือกกำลังตำรวจมาจากทั่วประเทศ มาทำการฝึกอบรมการปฏิบัติการพิเศษ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และมอบหมายให้ประจำการที่กองปราบสามยอด ซึ่งก็คือที่ตั้งของกองปราบปรามในยุคนั้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 ได้ย้ายที่ตั้งมาอยู่ที่โชคชัย 4 และจัดหน่วยเข้าไปอยู่ภายใน แผนก 5 กองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม โดยมีสิ่งปลูกสร้างเพียงอาคารไม้ของกองกำกับการ กองรักษาการณ์ และโรงโภชนาการ ก่อนจะมีการก่อสร้างตึกของกองบังคับการเมือปี พ.ศ. 2514

และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองปราบปราม (กก.ปพ.บก.ป.) มีชื่อเรียกที่มาจากหลักสูตรการฝึกว่า สยบริปูสะท้าน ซึ่งมีการประดับคำนี้เหนือคำว่า COMMANDO เหนืออาร์มของกองปราบปรามบนแขนจนกลายเป็นชื่อเรียกของหน่วย

จากนั้นในปี พ.ศ. 2561 กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกองบังคับการ สังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยมี พลตำรวจโท ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นผู้บังคับการคนแรกของหน่วย และแทนที่กองกำกับการเดิมของกองปราบด้วยการจัดตั้ง กองกำกับการสนับสนุน ขึ้นมาแทน และจัดตั้งหน่วยหนุมานกองปราบขึ้นมาแทนหลังจากนั้น

ภารกิจของ ‘หน่วยคอมมานโด’

กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ มีภารกิจหลักในการถวายความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้แทนพระองค์ซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และบุคคลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นพระราชอาคันตุกะ รวมไปถึงการรักษาความปลอดภัยในขณะที่เสด็จไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรักษาความปลอดภัย

รักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่โดยรอบเขตพระราชฐาน รวมไปถึงการควบคุมฝูงชนและปราบปรามการก่อจลาจล การตรวจพิสูจน์และเก็บกู้วัตถุระเบิดที่อยู่โดยรอบเขตพระราชฐาน ปฏิบัติการด้านการข่าวต่อภัยคุกคามที่เป็นภัยต่อความมั่นคงและองค์พระมหากษัตริย์ และงานจิตอาสาพระราชทานตามที่ได้รับมอบหมาย

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงหลักของตำรวจในการปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่นเดียวกับตำรวจทั่วไป โดยจะเน้นไปที่การต่อต้านการก่อการร้าย และการสนับสนุนการปฏิบัติการทางยุทธวิธีในการปราบปรามอาชญากรรมให้กับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยมีขอบเขตการปฏิบัติการทั่วราชอาณาจักร

หนุมาน กองปราบ คืออะไร

หน่วยปฏิบัติการพิเศษหนุมาน กองปราบปราม หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘หนุมาน กองปราบ’เป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษเทียบชั้นสวาตของกองปราบปราม โดยได้รับการก่อตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562

เนื่องด้วยหน่วยคอมมานโดที่อยู่สังกัดกองปราบปราม คือ กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม ได้แยกตัวออกไปอยู่ในสังกัดกองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภ รักษาพระองค์ 904 จึงได้มีการขอจัดตั้ง กองกำกับการสนับสนุน กองบังคับการปราบปราม ขึ้นแทน

หน้าที่หลักของหน่วยนี้ก็คือเป็นหน่วยกำลังที่คอยสนับสนุนผลงานของ กก.1-6 เมื่อมีเหตุการณ์ที่ต้องใช้กำลังจับกุมคนร้าย หรือผู้มีอิทธิพล ต่าง ๆ โดยผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร อาทิเช่น ต่อต้านการก่อการร้าย อรินทราช SWAT Advance และหลักสูตรต่าง ๆ

ซึ่งมีกำลังพลอยู่ 40 นาย โดยจะคัดเลือกจากเจ้าหน้าที่ภายในกองบังคับการปราบปราม ทั้งชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวน

สำหรับ 1 ภารกิจที่เป็นที่จดจำได้คือ เหตุการณ์ชิงตัวประกันในเทอร์มินอล 21 โคราช โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นได้มีการจัดกำลังหนุมานกองปราบพร้อมอาวุธหนักและเบาครบมือ 2 ทีม 20 นาย ลงพื้นที่ 12 นายโดยได้ทำการควบคุมพื้นที่ และสามารถช่วยประชาชนออกมาได้เป็นจำนวนมาก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง