เรามักได้ยินกฎหมายมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีไว้เพื่อการเอาผิดเจ้าพนักงานเมื่อพบเห็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และมักจะมีการแจ้งความหรือดำเนินคดี ในลักษณะต่างๆ
คำว่า “เจ้าพนักงาน” หมายถึง บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ นั่นคือ ข้าราชการที่ได้รับเงินงบประมาณประเภทเงินเดือน ทั้งข้าราชการประจำ เช่น ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ตุลาการ พนักงานอัยการ รวมทั้งพนักงานราชการ และข้าราชการการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี นายกเทศมนตรี เทศมนตรี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมทั้งบุคคลที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงาน เช่น เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ไวยาวัจกร ผู้พิพากษาสมทบ
แต่ไม่ใช่ข้าราชการทั้งหมดจะเป็น “เจ้าพนักงาน” เพราะตำแหน่งที่อยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิก สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล ไม่ใช่เจ้าพนักงาน
หากต้องการคุ้มครอง หรือ ลงโทษเป็นพิเศษในกรณีทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ กฎหมายจะบัญญัติถึงบุคคลในตำแหน่งนั้นโดยตรง เช่น มาตรา 143 และเจ้าพนักงาน ถือว่าเป็นบุคคลที่มีบทบาทในสังคม เหนือกว่าบุคคลธรรมดา จากอำนาจหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติและอยู่ในขอบเขตกฎหมาย
จึงต้องมีกฎหมายเพื่อคุ้มครอง และควบคุมบุคคลผู้เป็นเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่
ทั้งนี้มาตรา 157 กำหนดไว้ว่า
“มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือ ปรับตั้งแต่ สองพันบาท ถึง สองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ซึ่งตามมาตรา 157 ได้กำหนดความหมายเมื่อเจ้าพนักงานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือ โดยทุจริต คือการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สำหรับตนเอง หรือ ผู้อื่น จากการปฏิบัติหน้าที่ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้น และ ต้องมีหน้าที่ คือ หากไม่อยู่ในหน้าที่ หรือ อยู่ในหน้าที่ แต่ทำโดยชอบและโดยสุจริต ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157
ดังนั้น ถ้าจะสรุปว่า ใครจะมีความผิดตามมาตรา 157 จะต้องเข้าข่ายทั้ง 3 ข้อนี้ ก็คือ
1.ผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงาน
2.ต้องเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่กระทำการตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้
3.ในการปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เป็นการกระทำโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น หรือ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ถ้าเรามาดูเหตุการณ์การเสียชีวิตของสารวัตรแบงค์ หรือ สารวัตรศิว คือ พันตำรวจตรี ศิวกร สายบัว สารวัตรตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ถูก นายธนัญชัย หรือ หน่อง ท่าผา ลูกน้องคนสนิทของกำนันนก หรือ นายประวีณ จันทร์คล้าย ยิงเสียชีวิต ภายในงานเลี้ยงของกำนันนก เมื่อคืนวันที่ 6 กันยายน 2566
มีคำถามว่า ในงานเลี้ยงกำนันนก มีตำรวจมาร่วมงานจำนวนมาก เหตุใดจึงไม่จับกุม หน่อง ท่าผา มือยิงสารวัตรแบงค์ และ กำนันนก ตั้งแต่ในงานเลี้ยง
พันตำรวจเอก เอนก เตาสุภาพ รองผู้บังคับการกองปราบปราม ระบุว่า ต้องมีการสอบพยานภายในงาน ทั้งพลเรือน 10 ปาก และ ตำรวจประมาณ 20 ปาก
ส่วนการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ หรือ ความผิดฐาน 157 อาจจะเป็นหน้าที่ของตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ ปปป.เป็นผู้สอบสวน
ขณะที่พลตำรวจตรี จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการ ปปป. ระบุว่า มีคำสั่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงข้าราชการตำรวจทางหลวงที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ถือเป็นความผิดซี่งหน้า ตามมาตรา 78 เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจทำการจับกุมแต่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดหลบหนีได้ จะต้องมีการเรียกมาสอบต่อไป
รวมทั้ง พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า จะต้องมีการตรวจสอบตำรวจ 20 กว่านาย ที่อยู่ในที่เกิดเหตุ มีตำรวจระดับผู้กำกับการ 3-4 คน บางคนมีต้นสังกัดอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และมีรายงานจากองพิสูจน์หลักฐานว่า พบร่องรอยการทำลายหลักฐาน ทั้งการเช็ดคราบเลือด การถอดกล้องวงจรปิด และหากมีตำรวจรายใดปล่อยปละละเลย และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย
กรณีการเสียชีวิตของสารวัตรแบงค์ หรือ สารวัตรศิว นอกจากเรื่องของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ปัญหาการโยกย้ายตำรวจ อาจจะมีปัญหาตามมาว่า หลังจากนี้ ตำรวจที่ไปร่วมงานวันเลี้ยงของกำนันนก แล้วปล่อยให้เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ จะมีความผิดตามมาตรา 157 หรือไม่ โดยเฉพาะไม่ใช่ช่วงเวลาทำงาน และบางนายมาจากต่างพื้นที่