คัดลอก URL แล้ว

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ร่วมกับ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. จับมือ อบต.ท่างาม จ.สิงห์บุรี จัดตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูผู้สูงวัยตำบลท่างาม”

เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ สร้างครอบครัวแข็งแรง สานพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง พร้อมนำทุนทางสังคมมาใช้อย่างมีศักยภาพ

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมดำเนิน “โครงการพัฒนารูปแบบการจัดบริการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยการประยุกต์ใช้เครื่องมือและนวัตกรรมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในพื้นที่จังหวัดระยองและสิงห์บุรี” ซึ่งเป็นงานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เชื่อมร้อยงานกับท้องถิ่นที่ร่วมขับเคลื่อนงานดูแลผู้สูงอายุ ร่วมกับตัวผู้สูงอายุและครอบครัว

ผศ.รณรงค์ จันใด อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิจัยโครงการฯ กล่าวว่า สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และนับวันก็จะยิ่งเดินหน้าเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged society) ซึ่งเป็นอีกขั้นหนึ่ง โดยกลไกการดูแลผู้สูงอายุที่สำคัญ นอกจากครอบครัว ภาครัฐ หรือหน่วยงานต่าง ๆ แล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มีความสำคัญ ในการพัฒนาให้เกิดรูปแบบการบริการจัดการของท้องถิ่นที่มีความเหมาะสมกับการปรับบริบทในแต่ละพื้นที่ โครงการวิจัยครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ในพื้นที่ตำบลท่างาม พร้อมจัดตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูผู้สูงวัยตำบลท่างาม (Tar-Ngam Day Care Service Center)” ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ ได้เริ่มต้นตั้งแต่การเก็บข้อมูลของผู้สูงอายุทั้งตำบล เพื่อดูว่าผู้สูงอายุในพื้นที่ มีปัญหาด้านสุขภาพ ด้านสังคม ด้านจิตใจ ด้านการเรียนรู้อย่างไร และมีความต้องการเรื่องใดบ้าง ที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและท้องถิ่น ยังไม่ได้จัดบริการให้ พร้อมสัมภาษณ์ผู้บริหารท้องถิ่น ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องว่า หากจะต้องดูแลผู้สูงอายุ ควรจะดำเนินการอย่างไร ควรจะจัดบริการสาธารณะเพื่อบริการผู้สูงอายุแบบไหน ทำให้เป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์ Day Care แห่งนี้ขึ้น  โดยเชื่อมโยงกับการที่ตำบลท่างามเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ทั้งการดำเนินการโรงเรียนผู้สูงอายุ หรือ การส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุด้วย งานวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม หรือ PAR เป็นการนำ 3 ห่วงเข้ามาเชื่อมร้อยระหว่างกัน ห่วงที่ 1 คือ นักวิจัยจากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ผศ.ดร.ณัฏฐพัชร สโรบล อาจารย์ประจำภาควิชานโยบายสังคม การพัฒนาสังคมและการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ และตนเอง ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น เข้ามาวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการให้บริการให้เกิดขึ้น ห่วงที่ 2 คือ องค์การบริหารส่วนตำบลท่างาม มีทั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปลัด อบต. ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม และเจ้าหน้าที่ อบต. ทุกคนที่จะขับเคลื่อนงานด้านนี้ และห่วงที่ 3 คือ ผู้สูงอายุ ครอบครัวผู้สูงอายุ กับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทั้ง 3 ห่วงนี้ เมื่อเข้ามาเชื่อมต่อกันแล้ว ก็จะทำให้เกิดภาพการทำงานที่นักวิจัยมีความรู้ทางวิชาการ ท้องถิ่นมีนโยบาย มียุทธศาสตร์ แนวทางดูแลผู้สูงอายุ ส่วนครอบครัวผู้สูงอายุก็สามารถเตรียมตัว เพื่อพัฒนาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญคือ ทุกคนที่ต้องเตรียมพร้อมและมีความเข้าใจในเรื่องนี้ เพราะทุกคนต้องเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยด้วยกันทั้งหมด ลูกที่ดูแลพ่อแม่เพื่อนก็จะหายไป มีภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจครอบครัว ดังนั้นหากท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนได้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุบางอย่างให้กับท้องถิ่นที่มากกว่าการสงเคราะห์และการจัดกิจกรรมตามวาระโอกาส และยังเป็นการสร้างพื้นที่ต้นแบบให้ที่อื่นมาเรียนรู้ได้อีกด้วย

 “เราคาดหวังว่า โครงการนี้ จะเป็นต้นแบบในการดูแลคนทุกช่วงวัยให้กับท้องถิ่นอื่น ๆ เข้ามาศึกษาเรียนรู้ และเห็นความสำคัญในการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุตามบริบทของพื้นที่ หาก อบต. ลุกขึ้นมาทำเรื่องพวกนี้มากขึ้น ภาระของคนในครอบครัวก็จะลดน้อยลง อบต.จะเป็นที่พึ่งในการจัดบริการสาธารณะให้กับผู้สูงอายุเหมือนกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้ และหากท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการดูแลตั้งแต่ แรกเกิด ปฐมวัย และช่วงสุดท้ายชีวิตคือการดูแลผู้สูงอายุ จะช่วยปิดช่องว่างของการพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคมจะขับเคลื่อนต่อไปได้ในอนาคตอีกด้วย” ผศ.รณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย

          ทั้งนี้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566  นายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูผู้สูงวัยตำบลท่างาม (Tar-Ngam Day Care Service) ณ  ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุตำบลท่างาม  และศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟู ผู้สูงวัยตำบลท่างาม มีการจัดแสดงนิทรรศการเพื่อผู้สูงวัยตำบลท่างาม การแสดงจากโรงเรียนผู้สูงอายุและผู้สูงอายุที่อยู่ในความดูแลของศูนย์ Day Care  บู๊ทแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์จากผู้สูงอายุอีกด้วย นอกจากนี้ ภายในงานมีพิธีลงนาม MOU ขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้สูงอายุในพื้นที่ในศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูผู้สูงวัยตำบลท่างาม ซึ่งเป็นความร่วมมือจากหน่วยงาน 12 แห่ง ร่วมกัน ได้แก่ อบต.ท่างาม, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลท่างาม, กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่างาม, สำนักงานสาธารณสุขอำเภออินทร์บุรี, คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต (พชอ.) อำเภออินทร์บุรี, โรงพยาบาลอินทร์บุรี, สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสิงห์บุรี, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี (สสจ.สิงห์บุรี),  องค์การบริหารส่วนจังหวัดสิงห์บุรี, คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีการจัดบริการในรูปแบบการดูแลแบบองค์รวมร่วมกับ การฟื้นฟูกายภาพทางร่างกายและการดูแลกิจวัตรประจำวัน ด้วยทีมสหวิชาชีพและทุนทางสังคมในพื้นที่ แก่กลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุที่ผ่านการคัดกรองและการประเมินสุขภาพแบบองค์รวมผู้สูงอายุ ณ ศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูผู้สูงวัยตำบลท่า

งาม (Tar-Ngam Day Care Service) ในวันอังคารและวันพฤหัสบดีของสัปดาห์ เวลา 9 นาฬิกา ถึง 15 นาฬิกา โดยทั้ง 12 หน่วยงานนี้จะประสานความร่วมมือระหว่างกัน และพร้อมสนับสนุนการดำเนินงาน ตลอดจนติดตามประเมินผลการดำเนินงาน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในพื้นที่ร่วมกัน

นายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี กล่าวว่า จังหวัดสิงห์บุรีมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 โดยเฉพาะในตำบลท่างาม มีผู้สูงอายุร้อยละ 26 ตามสถิติแล้ว ถือว่าเป็นพื้นที่ 1 ใน 5 จังหวัดที่มีผู้สูงอายุสูงที่สุดของประเทศ ดังนั้นการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ จึงเป็นเรื่องที่จังหวัดให้ความสำคัญ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี ได้ดำเนินการแล้วหลายเรื่อง ซึ่งในตำบลท่างาม ถือเป็นท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็ง มีผู้บริหารทั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปลัด อบต. เป็นแกนหลักสำคัญในการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับประเทศ การมีนักวิจัยของคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รวมถึงกองทุนที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เข้ามาศึกษาวิจัย พร้อมพัฒนาให้ความช่วยเหลือในการดูแลผู้สูงอายุ จนกลายเป็นพื้นที่ตำบลนำร่อง โดยที่ผ่านมาจังหวัดได้เปิดรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะ แนวทางที่ตำบลท่างามได้เริ่มนำร่องจนเป็นพื้นที่ต้นแบบดูแลผู้สูงอายุนี้ ไปกำหนดเป็นแนวทางให้สอดรับกันทั้งจังหวัด เพื่อขยายพื้นที่ไปยังตำบลหรืออำเภออื่น

รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี กล่าวด้วยว่า ความสำเร็จของพื้นที่ อบต.ท่างาม ในการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุ ถือว่าสอดคล้องกับการขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ลงมาถึงระดับจังหวัด ระดับอำเภอ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) และยังสอดคล้องกับแนวทางของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อีกด้วย ซึ่งการนำแผนเหล่านี้ไปปฏิบัติถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เช่น การนำผู้ป่วยอัลไซเมอร์ หรือโรคทางสมอง ทางการเคลื่อนไหวและกล้ามเนื้อ มาฟื้นฟูทุกวันอังคารกับวันพฤหัสบดี บูรณาการการทำงานจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยในอนาคตจะขยายผลการดำเนินงานเช่นนี้ให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น ผู้ที่ได้รับการบำบัดจากศูนย์จะมีแนวทางการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น มี อสม. Care Giver คอยรับช่วงในการดูแลต่อ พร้อมทั้งจะหาแนวทางสนับสนุนด้านงบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น ทั้งดึงงบประมาณพัฒนาจังหวัดมาช่วยเหลือ หรือหากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เห็นความสำคัญของโครงการนี้ ก็อาจจะจัดสรรงบประมาณผ่านกองทุนผู้สูงอายุในระดับตำบลอีกด้วย

ด้าน นางสาวบุษยา ใจสว่าง รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงนโยบายของการสร้างเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุว่า ในฐานะหน่วยงานหลักได้มีนโยบายส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมี “พฤฒพลัง” คือการมีสุขภาพแข็งแรง มีความสุขในการดำรงชีวิต ทั้งนี้ด้านสุขภาพต้องเริ่มสร้างมาตั้งแต่วัยเด็กให้แข็งแรง เพื่อให้เป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรงยาวนานที่สุด แต่ผู้สูงอายุที่เผชิญภาวะพึ่งพิงก็ต้องได้รับการดูแลด้วย ขณะเดียวกันได้ส่งเสริม “ความมั่นคง” เช่น ด้านรายได้ มีหลักประกันรายได้ที่ดี สามารถดำรงชีวิตได้ มีรายได้นำมาจับจ่ายใช้สอย ด้านที่อยู่อาศัยที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เข้ารับบริการสาธารณะในรูปแบบต่าง ๆ ได้ พร้อมส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมทางสังคมเพื่อให้เป็นผู้สูงอายุที่มีความ Active ขณะเดียวกันได้ส่งเสริมนโยบาย “สูงวัย ในถิ่นเดิม” ให้เป็นผู้สูงวัยที่อาศัยในถิ่นที่อยู่ของตนเอง มีครอบครัวดูแล ท้องถิ่นเกื้อหนุน ช่วยเหลือเกื้อกูลมีเพื่อนบ้านที่เป็นมิตร โดยมีรัฐคอยหนุนเสริม ให้ผู้สูงอายุอยู่ในครอบครัว หรืออยู่ในชุมชนท้องถิ่นอย่างมีความสุข โดยไม่มีข้อจำกัดด้านอายุ

“การจัดตั้งศูนย์ Day Care ที่ตำบลท่างาม ไม่ใช่การตั้งต้น แต่เป็นการดูแลผู้สูงอายุที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม มีบริการที่เป็นนวัตกรรมหลายอย่าง ที่เป็นความร่วมมือของชุมชนท้องถิ่น และสามารถสร้างเครือข่ายผู้สูงอายได้อย่างคุ้มค่า สามารถให้พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้ กรมกิจการผู้สูงอายุพร้อมสนับสนุน เติมเต็ม ในสิ่งที่ อบต.ท่างามร้องขอ ทั้งในด้านของความรู้ งบประมาณ เทคโนโลยีและข้อแนะนำต่าง ๆ อีกด้วย” รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าว

ศาสตราจารย์ศศิพัฒน์ ยอดเพชร ที่ปรึกษาโครงการวิจัยฯ /ผู้เชี่ยวชาญผู้สูงอายุ กล่าวในเวทีให้กำลังใจ Ted Talk ปลูกพลัง..สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้สูงวัย โดยระบุว่า การจะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุได้ จะต้องเริ่มสร้างพลังบวกให้กับคนที่มีหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ ทั้งผู้ปฏิบัติ และครอบครัวที่ต้องดูแล เพราะงานดูแลผู้สูงอายุ จะพบปัญหาหลายรูปแบบ คนทำงานอาจมีความเครียด บางครั้งจะขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนั้นการพยายามมองโลกอย่างเข้าใจและซึมซับแต่สิ่งที่ดี เป็นเรื่องที่่จำเป็นและสำคัญ พร้อมแนะว่า ทุกคนจะต้องฝึกขอบคุณในสิ่งที่มี ดูแลหัวใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมี Empathy (ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน) คือหัวใจสำคัญของการอยู่ร่วมกัน ต้องรับฟังด้วยหัวใจ ทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง พร้อมย้ำว่า หากสามารถสร้างพลังบวกให้ผู้ดูแลได้ ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามไปด้วย

ขณะที่ นายแพทย์พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ ประธานกรรมการกำกับทิศทางของแผนสุขภาวะชุมชน พื้นที่ภาคกลาง (สสส.) กล่าวว่า การทำงานเรื่องผู้สูงอายุ จะต้องให้คนในพื้นที่เป็นผู้ดูแล เพราะเข้าใจบริบทของพื้นที่มากที่สุด ซึ่งครอบครัวถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างมากในการดูแลผู้สูงอายุเมื่อกลับไปอยู่บ้าน เพื่อจะให้เกิดความต่อเนื่อง และทำให้สุขภาพแข็งแรงขณะเดียวกันเห็นว่าการใช้ดนตรี ศิลปะต่าง ๆ มาช่วยในการฟื้นฟูความจำให้กับผู้สูงอายุ เป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการกระตุ้นให้เกิดความสนุกสนาน โดยเฉพาะดนตรี

ด้าน รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) กล่าวว่า การที่ อบต.ท่างาม ประสบความสำเร็จในการจัดทำศูนย์ DAY CARE เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเชื่อมประสานงานผู้สูงอายุ เพราะสามารถนำท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ รพ.สต. เครือข่ายชุมชน นำทุนทางสังคมทั้งหมดที่มี มาทำประโยชน์ให้ประชาชนแบบ 100% ขณะเดียวกัน ยังมีบุคลากรที่ช่วยชี้แนะเรื่องการดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร อีกทั้งยังเป็นการเข้ามาเติมเต็มเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแบบไม่พร้อม  ถือว่าช่วยเปลี่ยนโฉมผู้สูงอายุ และยังเป็นตัวบอกอนาคตของท่างาม ทำให้ประชาชนมองเห็นอนาคตตัวเองว่า เมื่อเข้าสู่ความสูงวัย จะได้รับบริการอย่างไรบ้าง และยังสร้างความมั่นใจว่าหากมีชีวิตอยู่ที่นี่จะได้รับการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง พร้อมแนะว่า ควรเชื่อมโยงทุกเครือข่ายเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในการดูแลผู้สูงวัยมากขึ้น เพราะท่างามมีสวัสดิการสังคม ทั้งภาครัฐและชุมชน  มีบริการสุขภาพ มีการช่วยเหลือดูแลกันของประชาชน มีจิตอาสาและอาสาสมัคร ทั้งหมดนี้หากเชื่อมร้อยกันได้ก็จะสร้างศักยภาพในการทำงานได้มากขึ้น

 “การทำงานของท่างามครั้งนี้ เป็นการพิสูจน์บทบาทและความสามารถของชุมชนตนเอง เพื่อสร้างการยอมรับทางสังคม ซึ่งสังคมจะให้การยอมรับที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดู ทำงานเพื่อดูแลสุขภาวะของประชาชน สร้างความเชื่อมั่นทางสังคมอย่างสูงที่สุดในกับคนในพื้นที่” รศ.ดร.ขนิษฐา กล่าวทิ้งท้าย


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง