คัดลอก URL แล้ว
ผู้บัญชาการทหารเรือ เยี่ยมอำลา ทัพเรือภาคที่ 2 ในโอกาสเกษียณอายุราชการ

ผู้บัญชาการทหารเรือ เยี่ยมอำลา ทัพเรือภาคที่ 2 ในโอกาสเกษียณอายุราชการ

วันนี้ (29 สิงหาคม 2566) เวลา 10.10 น. พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วยนางจตุพร ชมเชิงแพทย์ นายกสมาคมภริยาทหารเรือ และคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ

ได้เดินทางไปเยี่ยมอำลาหน่วย ในพื้นที่ทัพเรือภาคที่ 2 ในโอกาสเกษียณอายุราชการ ณ กองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดภูเก็ต โดยมี พลเรือโท จรัสเกียรติ ไชยพันธุ์ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 พร้อมด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ หัวหน้าหน่วยขึ้นตรง และหน่วยขึ้นการบังคับบัญชาทางยุทธการ ทัพเรือภาคที่ 2 ร่วมให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ พร้อมทั้งมอบโอวาทแก่กำลังพล โดยผู้บัญชาการทหารเรือ ได้กล่าวชื่นชมกำลังพลทัพเรือภาคที่ 2 ทุกนาย ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้องอธิปไตยและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ด้วยความเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้บรรลุตามนโยบายของกองทัพเรือ รวมทั้งปฏิบัติภารกิจตามที่รัฐบาลมอบหมาย แสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ และขอให้กำลังพลทุกนายตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ อย่างเต็มกำลังความสามารถด้วยความรัก ความสามัคคี และความซื่อสัตย์ มีความวิริยะอุตสาหะ รวมทั้งกล่าวอำลาในโอกาสเกษียณอายุราชการ โดยมีใจความสำคัญว่า
“ขอขอบคุณที่ร่วมมือกันปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถด้วยความทุ่มเท มุ่งมั่นและเสียสละ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคความยากลำบากมาโดยตลอด แม้การเกษียณอายุราชการของผม จะเป็นไปตามแนวทางในการรับราชการ แต่ความรักและความผูกพันของผมที่มีต่อทุกท่านจะไม่เปลี่ยนแปลงและจะระลึกถึงทุกท่านเสมอไป”

   ทั้งนี้ พลเรือเอก เชิงชาย  ชมเชิงแพทย์ เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ ลำดับที่ 56 ของกองทัพเรือ

โดยตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ พลเรือเอก เชิงชายฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายหลัก 9 ด้าน โดยมุ่งเน้นนโยบายผู้บัญชาการทหารเรือท่านที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างรากฐานที่มั่นคงของกองทัพเรือ และเพื่อให้กำลังพลทุกนายได้ร่วมแรงร่วมใจขับเคลื่อนนโยบายผู้บัญชาการทหารเรือ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์
ของกองทัพเรือที่กำหนดไว้คือเป็นหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลที่มีบทบาทนำในภูมิภาค และเป็นเลิศ ในการบริหารจัดการ
สำหรับนโยบายหลัก 9 ด้าน มาจากยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พ.ศ.2560 – 2580 ซึ่งเป็น
แผนแม่บทการพัฒนากองทัพเรือด้านต่าง ๆ และนโยบายกองทัพเรือระยะ 5 ปี พ.ศ.2566 – 2570 มีแผนการดำเนินการที่น่าสนใจ ประกอบด้วย การปรับปรุงโครงสร้างและอัตราการจัดอัตรากำลังแทนเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล. การพัฒนาระบบการศึกษาของกองทัพเรือ การพัฒนาความร่วมมือด้านการข่าวในการแลกเปลี่ยนข่าวสาร
ด้านความมั่นคงอย่างต่อเนื่องในทุกมิติทั้งในและต่างประเทศ การเตรียมกำลังและใช้กำลัง โดยพัฒนาการฝึก
ให้มีความสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงทะเล โดยมุ่งเน้นการฝึก 6 ส่วนหลัก ได้แก่ ด้านเรือดำน้ำ ด้านการปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก ด้านการป้องกันและควบคุมท่าเรือ ด้านการช่วยเหลือและกู้ภัยเรือดำน้ำ แนวทางการใช้กำลังของ กองทัพเรือ พ.ศ.2563 และ การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติการพัฒนาขีดความสามารถของฐานทัพท่าเรือและสถานีเรือต่าง ๆ และพัฒนาการฝึกด้านการส่งกำลังบำรุง การดำรงความพร้อมของระบบควบคุมบังคับบัญชาสั่งการและสถานีตรวจการณ์ (C4ISR) ตามแนวความคิด
ของสงครามที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (NETWOIRK CENTRIC WARFARE : NCW) การพัฒนาขีดความสามารถและกลไกความร่วมมือการบริหารจัดการภัยพิบัติของกองทัพเรือ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมทางทหาร โดยให้ความสำคัญการวิจัยและพัฒนายุทโธปกรณ์หลัก/สำคัญ ที่สามารถนำไปสู่สายการผลิตและใช้ในราชการภายในกองทัพเรือและการพัฒนาการบริหารจัดการภายในของกองทัพเรือให้มีมาตรฐานสากล เป็นองค์กรสมรรถนะสูง พร้อมปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง