หลังจากที่ อีลอน มัสก์ ได้ประกาศจำกัดการมองเห็นทวีตในหน้าฟีดของทวิตเตอร์เป็นการชั่วคราว โดยระบุว่า ผู้ที่สมัครใช้งานแบบยืนยันตัวตน (Twitter Blue) จะสามารถอ่านทวีตได้ 10,000 ทวีตต่อวัน, ผู้ใช้งานทั่วไป อ่านได้ 1,000 ทวีตต่อวัน, ผู้สมัครใช้งานใหม่ อ่านได้เพียง 500 ทวีตต่อวัน โดยมัสก์ให้เหตุผลว่า เพื่อจัดการกับปัญหาการถูกดูดข้อมูลไปใช้ และการจัดการระบบของทวิตเตอร์เอง รวมถึง เขาอยากให้ผู้ติดทวิตเตอร์ได้ใช้ชีวิต และใช้เวลากับเพื่อน ครอบครัวมากขึ้น (ข้อสุดท้ายนี่จริงจังมั้ย ไม่แน่ใจ)
#ทวิตล่ม
บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำการเก็บข้อมูลในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ถึง 3 กรกฎาคม 2566 ผ่านเครื่องมือ ZOCIAL EYE พบ 9,750 ข้อความ 841,868 เอ็นเกจเมนต์ โดยเริ่มจากกระแส #ทวิตล่ม ในทวิตเตอร์ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม (เวลาประเทศไทย) เพราะเริ่มมีผู้ที่ถูกจำกัดการมองเห็น และเข้าใจผิดว่าสาเหตุนั้นเกิดจากทวิตเตอร์ล่ม
โดยผู้ที่คิดว่า #ทวิตล่ม ก่อนใคร และน่าจะเป็นกลุ่มผู้ใช้งานหลักของแพลตฟอร์ม มีอายุระหว่าง 18-24 ปี มีมากเป็นอันดับ 1 (59%) ตามมาด้วยผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 (18%) และผู้ที่อายุ 25-34 (18%) ตามลำดับ
จากนั้น ข่าวการจำกัดการมองเห็นของอีลอน มัสก์ เริ่มกระจายตัวในวงกว้าง มีการพูดถึงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความรู้สึก (Sentiment) ในเชิงลบ (Negative) สูงถึง 1,799 ข้อความ คิดเป็น 28% จากข้อความทั้งหมด
ผู้ใช้ทวิตเตอร์รู้สึกในทางลบ
โดยการพูดถึงในทางลบ (Negative) ผู้พูดได้แสดงความไม่เห็นด้วย และรู้สึกว่า ถูกบีบบังคับให้จ่ายค่าสมัครแบบยืนยันตัวตน (Twitter Blue) เพื่อที่จะได้เพิ่มจำนวนการมองเห็นทวีต, มีการแนะนำให้มัสก์หาสิทธิพิเศษให้กับผู้ยืนยันตัวตนมากกว่าลดทอนการมองเห็นทวีตของผู้ใช้งาน, ข้อจำกัดที่เยอะเกินไป จนทำให้จุดแข็งของทวิตเตอร์ ในเรื่องของการตามเทรนด์ อ่อนด้อยลง รวมไปถึงแฟนคลับของศิลปินที่รู้สึกว่ามัสก์กำลังทำให้ศิลปินของตนมีโอกาสเป็นที่รู้จักได้ลดน้อยลงจากเหตุการณ์ดังกล่าว
สาเหตุที่แท้จริงที่ทวิตเตอร์จำกัดการมองเห็น
ตลอดจน มีการคาดเดาถึงสิ่งที่อาจเป็นสาเหตุที่แท้จริงของการที่ทวิตเตอร์จำกัดการมองเห็น ไม่ว่าจะเป็นการหมดอายุของ Google Cloud, มีการดูดข้อมูลในทวิตเตอร์ เพื่อนำไปใช้ฝึกฝนปัญญาประดิษฐ์ (AI Artificial Intelligence) หรือการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมากในช่วงต้นปี จนอาจก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าวในที่สุด
นอกจากนี้ มีการแนะนำถึงแนวทางแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการใช้ TweetDeck แพลตฟอร์มฟรี ที่มีไว้ใช้จัดการบัญชีทวิตเตอร์หลายบัญชีพร้อมๆกัน เพื่อให้สามารถเห็นทวีตได้ไม่จำกัด หรือการย้ายไปใช้แพลตฟอร์มอื่น ไม่ว่าจะเป็น Bluesky Social, Mastodon, Threads ฯลฯ
หลังจากอีลอน มัสก์ บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก* ได้เข้าซื้อทวิตเตอร์เมื่อปลายปี 2565 นโยบายสไตล์มัสก์ ก็เขย่าวงการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเชิญผู้บริหารเก่าออกยกทีม, การลดพนักงาน และนำทวิตเตอร์ออกจากตลาดหลักทรัพย์, การเก็บค่าใช้งานรายเดือน (Twitter Blue) เพื่อยืนยันตัวตน และรับสิทธิ์ในการใช้ฟีเจอร์พิเศษ รวมถึง ล่าสุด การจำกัดการมองเห็นทวีต คงต้องเตรียมเกาะติดขอบสนามว่าอะไรจะเกิดขึ้นในตอนต่อไป กับแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้ชาวไทยถึง 14.6 ล้าน* หรือคิดเป็น 20.3% ของประชากรไทยทั้งหมด
*Reference:
Digital 2023 Thailand: https://datareportal.com/reports/digital-2023-thailand
Today’s Winners and Losers: https://www.forbes.com/real-time-billionaires/#635871103d78
วิเคราะห์โดย ฝนทอง วิสุทธิ์ศรีมณีกุล