คัดลอก URL แล้ว
“ธาริต” มาฟังคำพิพากษาฎีกา พร้อมยื่นคำร้องขอเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา

“ธาริต” มาฟังคำพิพากษาฎีกา พร้อมยื่นคำร้องขอเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ เดินทางมาฟังคำพิพากษา ศาลฎีกาคดีที่ถูกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ยื่นฟ้องนายธาริต และชุดพนักงานสอบสวนดีเอสไอรวม 4 คน ฐาน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และกลั่นแกล้งผู้อื่นให้ได้รับโทษทางอาญา จากการกล่าวหาว่าใช้อาวุธสั่งฆ่าประชาชนจากการสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 หลังจากเลื่อนฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา จากปัญหาสุขภาพครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่ 10

นายธาริต กล่าวก่อนขึ้นฟังคำพิพากษาว่า เช้าวันนี้ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาโต้แย้งคัดค้านองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาชุดเดิมที่ได้พิจารณาคดีนี้ เนื่องจากเพิ่งได้รับหลักฐานที่เชื่อได้ว่านายสุเทพ ในฐานะอดีตแกนนำกปปส. มีความเกี่ยวข้องกับอดีตประธานศาลฎีกา และผู้พิพากษาอีกจำนวนหนึ่ง อีกทั้งนายสุเทพได้เคยยื่นฟ้องว่านายธาริต กลั่นแกล้งให้ได้รับโทษในคดีทุจริตก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน จึงเชื่อว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีนี้อีก โดยคำร้องครั้งนี้ได้ขอให้ศาลฎีกาทบทวนคำพิพากาษา และให้เข้าในองค์ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพราะถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องทบทวนคำพิพากษา และใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย รวมทั้งไม่เชื่อมั่นในอดีตประธานศาลฎีกา และผู้พิพากาษาบางคน

นายธาริต ยังระบุว่าหากวันนี้ศาลฎีกา มีคำพิพากษาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ ก็อาจจะส่งผลต่อคดีของกลุ่มนปช.ที่ปัจจุบันที่ผ่านมาแล้ว 13 ปี ที่ไต่สวนสาเหตุการตายไปเพียง 27 คน จาก 99 คน ส่วนบางคดีพนักงานสอบสวนยุติการทำคดีไปแล้ว เนื่องจากไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด และบางส่วนเมื่อถึงชั้นอัยการศาลทหารก็สั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว ทั้งที่มีพยานหลักฐานว่าการไต่สวนสาเหตุการตายว่ามาจากกระสุนฝ่ายทหาร

ส่วนกรณีที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และนายราเมศ รัตนะเชวง ออกมาเปิดเผยว่า นายธาริต เลอะเลือนที่ดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพนั้น นายธาริต กล่าวว่า คดีนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ คดีของกลุ่มนปช. ที่ออกมาเคลื่อนไหวซึ่งขณะนั้นก็ได้แจ้งข้อกล่างหาดำเนินคดีกับแกนนำที่กระทำความผิดแล้ว อีกส่วนคือ การดำเนินคดีกับนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ที่พบหลักฐานว่าเป็นผู้ออกคำสั่งให้ทหารใช้อาวุธจริงในการควบคุมสถานการณ์ จึงเห็นว่านานิพิฏฐ์ และนายราเมศ เป็นนักการเมืองที่บิดเบือนข้อเท็จจริง พร้อมกับตั้งคำถามกลับว่าใครกันแน่ที่เลอะเลือน

ขณะที่การต่อสู้ในคดีนี้ตลอดทั้ง 3 ศาล นายธาริต ระบุว่า กรณีที่สำนักงานป.ป.ช. มีมติว่านายอภิสิทธิ์ กับนายสุเทพ ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว ไม่ใช่ว่าจะยังไม่มีความผิด เพราะหลังจากศาลฎีกายกฟ้องคดีแล้ว ได้ส่งสำนวนให้สำนักงาน ป.ป.ช.ไปไต่สวนอีกครั้ง ก่อนที่จะให้กลับมายื่นฟ้องใหม่ พร้อมขอให้สื่อมวลชนไปติดตามกับ ป.ป.ช.ว่าคดีดังกล่าวไปถึงไหนแล้ว

ส่วนคำพิพากษาในวันนี้หากตัดสินว่าตัวเองมีความผิด ก็จะถือว่ารับรองการออกคำสั่งของนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ใช้อาวุธจริงสลายการชุมนุมเป็นไปด้วยชอบแล้ว รวมทั้งผู้บาดเจ็บกว่า 2,000 คน และผู้เสียชีวิต 99 คน ก็จะไม่ได้รับโอกาสลดใช้ค่าเสียหาย และตัวเองก็ต้องโทษจำคุก

นายธาริต ยืนยันว่า การยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาพิจาณาในวันนี้ไม่ใช่การประวิงเวลา แต่เพิ่งได้รับหลักฐานมาจึงต้องร้องให้ตรวจสอบ ส่วนจะต้องใช้เวลาอีกนานหรือไม่ในการพิจารณาคำร้อง ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลฎีกา นอกจากนั้นก็ได้ส่งคำร้องขอให้ศาลฎีกา ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความการฟ้องตามกฎหมายมาตรา 157 และ 200 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อีกหนึ่งคำร้อง

ขณะที่นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ โจทก์ในคดี เห็นว่าการแถลงของนายธาริต เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาในวันนี้ และเห็นว่าคดีนี้นายธาริต ขณะเป็นอธิบดีดีเอสไอ ได้ทำคดีของกลุ่ม นปช. ว่าก่อการร้าย แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็กลับทำคดีใหม่กล่าวหาว่า นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ สั่งฆ่าประชาชนในการสลายชุมนุม นปช. จากการออกคำสั่งของผู้อำนวยการศอฉ.

ส่วนการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอให้ศาลฎีกาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเกี่ยวกับข้อกฎหมายมาตรา 157 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น เห็นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาว่าจะมีความเห็นอย่างไร ซึ่งก่อนหน้านี้ที่นายธาริต กลับคำให้การเป็นรับสารภาพ โดยพร้อมจะชดใช้เงินหลักแสนบาทให้กับโจทก์ทั้งสองคน แต่ทั้งสองคนปฏิเสธรับเงิน ไม่ได้มีเงื่อนไขที่ว่าส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

นายสวัสดิ์ ยังระบุว่า ตั้งแต่เป็นทนายความมายังไม่เคยเห็นว่าจำเลยจะขอเลื่อนฟังคำพิพากษาถึง 10 ครั้ง จากการอ้างว่าเจ็บป่วย คดีนี้ถือเป็นคดีแรก เช่นเดียวกับคดีทุจริตสร้างสถานีตำรวจ นายธาริตก็ขอเลื่อนฟังคำพิพากษาเช่นกันแต่ไม่เยอะเท่าคดีนี้ ส่วนวันนี้ศาลจะอ่านคำพิพากษา หรือเลื่อน ก็แล้วแต่ดุลยพินิจของศาล หลังจากที่นายธาริต ได้ขอยื่นคำร้องใฟ้ศาลฎีกาพิจารณาเพิ่มเติม

โดยวันนี้นายธาริต ได้ทำเอกสารหนังสือชี้แจ้งมาให้สื่อมวลชนแล้วสังคมได้รับทราบด้วย โดยระบุเนื้อหาว่า

” คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ศาลอาญาได้นัดอ่านในเช้าวันนี้ จะมีผลสำคัญอย่างใหญ่หลวงมาก ดังที่ข้าพเจ้าได้แถลงข่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2566 เพราะหากจะพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แล้วจะมีผลสำคัญมาก 3 ประการ คือ

  1. จะเป็นการรับรองยืนยันหรือการันตีว่านายอภิสิทธิ์ ฯ นายสุเทพ ฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้สั่งการให้ทหารใช้อาวุธปืนสงครามเอ็ม 16 ไปยิงทำร้ายประชาชนโดยชอบแล้วทุกประการ
  2. ผู้ตาย 99 ศพ ผู้บาดเจ็บ 2,000 กว่าคน และญาติผู้ตายจะไม่มีโอกาสได้รับความยุติธรรมและชดใช้ความเสียหายอีกเลย เพราะผลจากคำพิพากษาเช่นนั้นเท่ากับพิพากษาว่าเขาเป็นผู้สมควรตายและ
  3. นายธาริต ฯ กับพวกพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้รักษากฎหมายจะกลายเป็นผู้ผิดต้องรับโทษจำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา

ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องใช้สิทธิตามกฎหมายในการแสวงหาความยุติธรรมให้กับ 99 ศพ และตัวข้าพเจ้าเองกับพนักงานสอบสวนที่ถูกฟ้องอย่างถึงที่สุด

บัดนี้ข้าพเจ้าได้รับทราบข้อมูลมาเป็นที่น่าเชื่อว่า ในการทำคำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งยังไม่ได้อ่านคำพิพากษาและยังมีข้อโต้แย้งจากจำเลยคือข้าพเจ้าและญาติผู้ตายอยู่นั้น

มีผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวนหนึ่งรวมถึงอดีตประธานศาลฎีกาซึ่งเป็นองค์คณะและหรือเกี่ยวข้องเกี่ยวพันในการทำคำพิพากษามีความเกี่ยวข้องกับกลุ่ม กปปส. ซึ่งมีนายสุเทพ ฯ โจทก์ที่ 2 ในคดีนี้เป็นหัวหน้าหรือประธานกลุ่ม กปปส. โดยเป็นฝักไฝ่และเป็นฝ่ายเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ นายสุเทพ ฯ กับพวก กปปส. ก็ได้ยื่นฟ้องข้าพเจ้าต่อศาลอาญาคดีทุจริตกลางเป็นอีกคดีหนึ่งว่าที่ข้าพเจ้าดำเนินคดีกับนายสุเทพ ฯ และกลุ่ม กปปส. จนศาลอาญาลงโทษจำคุกไปมากว่า 10 คนนั้น เป็นเพราะถูกข้าพเจ้ากลั่นแกล้ง จึงน่าเชื่อว่าการทำคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้จะไม่เป็นไปโดยถูกต้องและไม่เป็นธรรม

ฉะนั่นเมื่อ 08.30 น. ของวันนี้ข้าพเจ้าจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาโต้แย้งคำคัดค้านองค์คณะและผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นอดีตประธานศาลฎีกาและผู้พิพากษาศาลฎีกาอีกจำนวนหนึ่งที่ได้ร่วมกันทำคำพิพากษาโดยขอให้ศาลอาญาส่งคำร้องนี้ไปยังศาลฎีกา เพื่อให้มีกระบวนการโดยรวมถึงประธานศาลฎีกาคนปัจจุบัน นำเอาการพิจารณาทำคำพิพากษาคดีนี้เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา และไม่ว่าผลของคำพิพากษาศาลฎีกาที่จะได้พิพากษาโดยที่ประชุมใหญ่จะออกมาเป็นอย่างใด ข้าพเจ้าพร้อมจะยอมรับว่าได้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ตาย 99 ศพ และบาดเจ็บ 2,000 คน รวมถึงนายอภิสิทธิ์ ฯ นายสุเทพ ฯ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และข้าพเจ้าอย่างแท้จริง

และจากการที่ข้าพเจ้าได้ยื่นคำร้องคัดค้านผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ได้ทำคพิพากษาดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงได้ยื่นคำร้องอีก 1 ฉบับ ขอให้บรรดาคำร้องที่สำคัญที่ได้มีการยื่นไว้ในคดีนี้คือคำร้องของญาติผู้ตายขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 และคำร้องที่ข้าพเจ้าขอให้ศาลฎีกาส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า มาตรา 157 และมาตรา 200 แห่ง ป.อาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญใช้บังคับลงโทษในคดีนี้ไม่ได้นั้น ข้าพเจ้าร้องคัดค้านและโต้แย้งว่ากลุ่มผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้นจะพิจารณาสั่งคำร้องดังกล่าวทุกฉบับไม่ได้ โดยข้าพเจ้าร้องขอให้ผู้ที่จะมีอำนาจหน้าที่พิจารณาและสั่งคำร้องทุกฉบับคือที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาเช่นกัน

การยื่นคำร้องคัดค้านโต้แย้งองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา อดีตประธานศาลฎีกา และผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวมานี้เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งมีคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 3818/2533 วางบรรทัดฐานรับรองและคุ้มครองสิทธิให้กระทำได้ และไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาล

ข้าพเจ้าเชื่อมั่นในกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมขององค์กรศาลยุติธรรมในภาพรวมและเชื่อว่าศาลอาญาจะได้ส่งคำร้องขอทั้ง 2 เรื่องดังกล่าวที่ข้าพเจ้าได้ยื่นในเช้านี้ไปยังศาลฎีกาและทางศาลฎีกาจะได้มีกระบวนการพิจารณาคำร้องขอของข้าพเจ้าอย่างเป็นธรรม โดยท่านประธานศาลฎีกาท่านปัจจุบันจะได้เห็นชอบให้ การทำคำพิพากษาและการพิจารณาสั่งคำร้องทุกเรื่องได้เข้าสู่การพิจารณาและจัดทำโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต่อไป

นายธาริต เพ็งดิษฐ์

10 กรกฎาคม 2566 “


ข่าวที่เกี่ยวข้อง