นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ปรับบทบาท สู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ มุ่งพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการงานศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมสู่ระดับนานาชาติ เล็งเห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมทั้งในและต่างประเทศ ยกระดับและพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์และระบบนิเวศทางวัฒนธรรม ให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมกับต่างประเทศ ส่งเสริมบทบาททางวัฒนธรรมของไทยในเวทีโลก โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในที่ประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ครั้งที่ 5/2566 ได้รายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมในระดับอาเซียนและต่างประเทศ ของ วธ. ได้แก่ การเตรียมจัดโครงการเยาวชนเชื้อสายไทยคืนถิ่น ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 17 – 20 กรกฎาคม 2566 ณ กรุงเทพมหานครและจังหวัดราชบุรี ให้เยาวชนไทยที่เกิดหรือเติบโตในต่างประเทศกว่า 40 คน ได้ตระหนักถึงความเป็นไทย เสริมความรู้ ความเข้าใจ และความผูกพันต่อประเทศไทยในด้านต่าง ๆ ผ่านศิลปวัฒนธรรมไทย ไม่เพียงแต่จะได้เรียนรู้ความเป็นไทย แต่จะได้รู้ชาติพันธุ์ ความหลากหลาย สังคมพหุวัฒนธรรม ของประเทศไทยต่างๆ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย พร้อมทั้งคัดสรรแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ให้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรม ทั้งนี้ จะมีการนำเยาวชนดังกล่าวเข้าพบนายกรัฐมนตรี และสาธิตการออกกำลังกายที่ประยุกต์มาจากท่ารำของนาฏศิลป์ไทยในช่วงการจัดกิจกรรมอีกด้วย
ปลัด วธ. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ โครงการ KONNECT ASEAN : Chiang Mai Print Residency ณ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง วธ. มูลนิธิอาเซียน และมูลนิธิเกาหลี ที่ให้ศิลปินสาขาภาพพิมพ์จากประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศละ 1 คน และสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 4 คน มาพำนักและสร้างสรรค์งานศิลปะภาพพิมพ์ ณ สตูดิโอภาพพิมพ์ รวมทั้งร่วมกิจกรรมเรียนรู้วัฒนธรรมและศิลปะ ณ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นระยะเวลา 1 เดือน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และกรรมวิธีการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะภาพพิมพ์ของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี และสร้างงานศิลปะภาพพิมพ์เพื่อนำไปจัดแสดงใน 3 ประเทศ ประกอบด้วย 1) หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ และ ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย 2) ASEAN Gallery ณ สำนักเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ต้า สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และ 3) ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ณ นครปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี ทั้งนี้ มีกำหนดจัดงานแถลงข่าวและพิธีเปิดนิทรรศการ ณ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ในวันที่ 27 กรกฎาคม นับเป็นการจัดกิจกรรมในระดับนานาชาติด้านศิลปะในพื้นที่ที่แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องในการดำเนินการในฐานะเมืองสร้างสรรค์ด้านงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านภายใต้ UCCN ของจังหวัดเชียงใหม่และผลักดันบทบาทของกระทรวงวัฒนธรรมในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมในพื้นที่ให้เชื่อมโยงกับการจัดกิจกรรมในระดับนานาชาติอย่างเป็นรูปธรรม
นางยุพา กล่าวต่อไปอีกว่า วธ. บูรณาการกับจังหวัดเพชรบุรี ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เครือข่ายภาคธุรกิจ และชุมชนจังหวัดเพชรบุรี เตรียมจัดกิจกรรมโครงการ “ศาสตร์และศิลป์แห่งอาหารสู่การประกอบการทางธุรกิจของอาเซียน (Empowering MSMEs in ASEAN Gastronomic Business)” ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของเทศกาล “อาหารสานศิลป์ เมืองเพชร เมืองสร้างสรรค์” จังหวัดเพชรบุรี ระหว่างวันที่ 3-9 สิงหาคม ที่ทาง วธ. ยกระดับสู่นานาชาติ โดยจะมีทั้งผู้ประกอบการและผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศละ 2 คน เข้าร่วมโครงการฯ โดยมีการแลกเปลี่ยนและนำเสนอประสบการณ์ทำงาน การพัฒนาต่อยอดและการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารร่วมกัน ผ่านการนำเสนอผลงาน การสัมมนา การจัดนิทรรศการและการออกร้าน การศึกษาดูงาน รวมถึงการลงมือปฏิบัติผ่านกิจกรรม workshop และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จจากผู้แทนเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (gastronomy) ของยูเนสโกในอาเซียน จำนวน 3 เมือง ได้แก่ ภูเก็ต เพชรบุรี และคูชิง ประเทศมาเลเซีย รวมไปถึงการจัดกิจกรรมที่ศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันอาเซียน ในวันที่ 8 สิงหาคม อีกด้วย