คัดลอก URL แล้ว
“วันงดสูบบุหรี่โลก” คณะแพทย์รามาธิบดี ประกาศนโยบายนักศึกษารามาธิบดี “ปลอดบุหรี่”

“วันงดสูบบุหรี่โลก” คณะแพทย์รามาธิบดี ประกาศนโยบายนักศึกษารามาธิบดี “ปลอดบุหรี่”

คณะแพทย์รามาธิบดีประกาศนโยบายนักศึกษารามาธิบดีปลอดบุหรี่ ร่วมเดินหน้ารณรงค์ไม่เอาทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีจัดงานวันงดสูบบุหรี่โลกประจำปี 2566 “บุหรี่ไฟฟ้า มีสารพิษ เสพติด อันตราย” ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า คณะแพทย์รามาธิบดีเป็นสถาบันผลิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เพื่อทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของประชาชน จึงให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาพ อีกทั้งรามาธิบดียังเป็นผู้นำด้านการรณรงค์เรื่องการไม่สูบบุหรี่มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ดังนั้นเพื่อให้บัณฑิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทุกหลักสูตรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน สร้างค่านิยมไม่สูบบุหรี่ทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้า และพร้อมเป็นผู้นำสังคมไทยสู่สังคมปลอดบุหรี่ คณะแพทย์รามาธิบดีจึงได้กำหนดนโยบาย “นักศึกษารามาธิบดีปลอดบุหรี่” และประกาศจุดยืน “รามาธิบดี ไม่สนับสนุนทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้า” พร้อมย้ำว่าบุหรี่ไฟฟ้า มีสารนิโคตินที่เป็นสารเสพติด และอันตรายเช่นเดียวกับบุหรี่ธรรมดา

“จากที่มีข้อมูลว่าพบนักศึกษาแพทย์สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ในฐานะโรงเรียนแพทย์จึงยิ่งต้องเร่งดำเนินการรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง นโยบายนักศึกษารามาธิบดีปลอดบุหรี่นี้ สอดคล้องกับนโยบาย “นักศึกษาแพทย์ไทยปลอดบุหรี่” ของสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยรวม 26 คณะแพทยศาสตร์ ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณให้นักศึกษาแพทย์หรือนักเรียนที่จะเตรียมเข้าเรียนแพทย์และวิชาชีพด้านสุขภาพตระหนักและทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคม เร่งหาความรู้และเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าให้กับประชาชน โดยขอเชิญชวนให้คณะแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทุกสถาบันที่เป็นเสาหลักด้านสุขภาพของประเทศร่วมรณรงค์ไม่สนับสนุนทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้าไปด้วยกัน” คณบดีคณะแพทย์รามาธิบดี กล่าวทิ้งท้าย

ด้านรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริไชย หงษ์สงวนศรี รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าเริ่มถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในสังคม แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ข้อมูลหลายอย่างที่มีการแชร์กันในโลกออนไลน์ถูกบิดเบือนและสร้างหลักฐานลวงเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้บุหรี่ไฟฟ้าเปลี่ยนจากสิ่งเสพติดที่อันตรายให้กลายเป็นทางเลือกในการสูบบุหรี่ ทั้งที่เมื่อดูจากข้อมูลที่แท้จริงแล้ว บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่ทางเลือกของคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว แต่กลับเป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กและเยาวชนเข้ามาสนใจและริลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า จนเกิดการเสพติดนิโคตินในที่สุด

“วัยรุ่นรวมทั้งในหมู่นักศึกษาแพทย์ยังมีความเข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย โดยคิดว่าควันไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้า เป็นเพียงละอองไอน้ำ มีเพียงสารปรุงแต่งให้มีกลิ่นหอม อ้างว่าสูบชนิดที่ไม่มีนิโคติน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นมายาคติที่ถูกปั้นแต่งโดยธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าทั้งสิ้น โดยความจริงคือ ไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่ไอน้ำ แต่เป็นไอระเหยของสารเคมีที่มีอันตรายจำนวนมากรวมทั้งสารก่อมะเร็ง การเร่งให้ความรู้เท่าทันแก่นักศึกษาแพทย์มีความสำคัญ เพราะนักศึกษาแพทย์เป็นคนรุ่นใหม่ที่จะมีเทคนิคในการสื่อสารไปถึงเด็กและเยาวชนถึงโทษพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าได้ดี” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริไชย กล่าว

อาจารย์แพทย์หญิง นภารัตน์ อมรพุฒิสถาพร หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤตระบบการหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าประกอบด้วยฝุ่นขนาดเล็ก PM 1.0 PM 2.5 มีสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น ฟอร์มาร์ลดีไฮด์ ไดอะซิทิล และอโครลิน รวมทั้งโลหะหนักที่เป็นพิษ เช่น นิกเกิล ดีบุก และตะกั่ว ซึ่งที่มาของโลหะหนักอาจจะมาจากน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า หรือ อุปกรณ์สูบที่โลหะหนักหลุดลอยจากขดลวดที่ชุบน้ำยา สารเคมีเหล่านี้มีผลกระทบต่อการเกิดโรคปอด ทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบเฉียบพลันซึ่งมีแนวโน้มพบบ่อยขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นที่มีประวัติสูบบุหรี่ไฟฟ้า และแม้จะรักษาหายแต่ปอดจะไม่กลับมาเหมือนเดิม 100% บางรายอาจจำเป็นต้องใช้ยาพ่น หรืออุปกรณ์ช่วยการหายใจไปตลอด นอกจากภาวะปอดอักเสบแล้วการสูบบุหรี่ไฟฟ้ายังเพิ่มความเสี่ยงเกิดหอบหืดเฉลี่ย 2 เท่า

“กลุ่มธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้ามักอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ตามหลักการลดอันตราย (Harm Reduction) แต่แท้จริงแล้วเป็นการอ้างแบบผิด ๆ เพราะสิ่งที่ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้ากำลังดำเนินการขัดต่อหลักการลดอันตรายโดยสิ้นเชิง คือ มีกลยุทธ์ส่งเสริมการตลาดพุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน ซึ่งหากแค่มีเยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่เข้ามาใช้บุหรี่ไฟฟ้าก็ถือเป็นอันตรายที่ประเมินค่าไม่ได้แล้ว นอกจากนี้ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้ายังสนับสนุนให้ผู้สูบใช้ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาหรือ dual user ที่มีอันตรายมากกว่าการสูบบุหรี่เพียงประเภทเดียว” อาจารย์แพทย์หญิงนภารัตน์ กล่าว

ด้านรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงเริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่าปัจจุบันมีงานวิจัยออกมาจำนวนมากที่ยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อสุขภาพแทบจะไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา โดยเฉพาะผลกระทบต่อโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ล่าสุดมีงานวิจัยจากสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายน 2566 ระบุว่า ข้อมูลเริ่มแสดงให้เห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถก่อให้เกิดปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจ ความสมบูรณ์ของหลอดเลือด และปัญหาเกี่ยวกับระบบเผาผลาญในร่างกายที่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เช่น เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 2 เท่า นอกจากนี้การสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและความดันโลหิตสูงขึ้นทันที รวมทั้งการสูบบุหรี่ไฟฟ้ายังส่งผลให้หลอดเลือดแข็งตัวและตีบตันขึ้น ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้นซึ่งหากมีภาวะดังกล่าวเป็นเวลานานจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ จึงอยากเตือนวัยรุ่นที่คิดริลองบุหรี่ไฟฟ้าโดยเชื่ออย่างผิด ๆ ว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย ว่าบุหรี่ไฟฟ้าอาจจะทำอันตรายถึงชีวิต ปัจจุบันเริ่มมีแพทย์ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ แชร์ข้อมูลมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าพบคนไข้กลุ่มวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 30 ปีเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โดยที่คนไข้กลุ่มนี้มีประวัติสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งภาวะดังกล่าวหากเข้ารับการรักษาไม่ทันการณ์จะเสียชีวิต

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ แสดงความกังวลว่า บุหรี่ไฟฟ้าจะมาทำให้การควบคุมยาสูบของประเทศไทยที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน หยุดชะงักและดำเนินการได้ยากขึ้น ที่สำคัญบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้เกิดการระบาดของการเสพติดนิโคตินในเด็กและเยาวชน ซึ่งนิโคตินมีอำนาจเสพติดที่รุนแรงเทียบเท่าเฮโรอีน ติดง่ายแต่เลิกยาก พบว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ไม่ใช่เด็กกลุ่มเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่แต่เข้ามาลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะวัยรุ่นผู้หญิง มีตัวอย่างให้เห็นแล้วในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จึงอยากฝากไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ให้พิจารณานโยบายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างรอบคอบ ควรคิดถึงผลที่จะกระทบต่อเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ โดยควรจะนำข้อมูลที่ถูกต้องจากสถาบันการแพทย์ และนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการควบคุมยาสูบประกอบการพิจารณา ที่สำคัญควรจะป้องกันไม่ให้ฝ่ายธุรกิจที่แสวงหาผลประโยชน์จากบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาแทรกแซงการกำหนดนโยบาย

ด้านตัวแทนนักศึกษาแพทย์ นางสาวสิตาธรรม พืชกมุทร นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะทำงานโครงการนักศึกษารามาธิบดีปลอดบุหรี่ แสดงความเห็นว่า “การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเหมือนเอาตัวเองไปเป็นหนูทดลองว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้าบุหรี่ไฟฟ้าจะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงแค่ไหน ถ้าเราต้องเลือกโดยสารเครื่องบินเพื่อเดินทางไปยังจุดหมาย แล้วรู้แน่ ๆ ว่าเครื่องบินลำนั้นจะตกและมีคนต้องเสียชีวิตเกินครึ่งลำ เรายังจะเลือกเดินทางไปกับเครื่องบินลำนั้นอีกไหม ชีวิตเรายังมีความสนุกมากมายรออยู่ มีโลกกว้างให้ผจญภัย อย่าทำร้ายตัวเอง ทำลายอนาคตด้วยการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเลย”

อ้างอิง
Association of Electronic Cigarette Exposure on Cardiovascular Health: A Systematic Review and Meta-Analysis: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/37088177/
Electronic Nicotine Delivery Systems and Cardiovascular/Cardiometabolic Health: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/37104558/
What are the respiratory effects of e-cigarettes?: https://www.bmj.com/content/366/bmj.l5275


ข่าวที่เกี่ยวข้อง