วันนี้ (26 พ.ค. 66) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดโครงการนำร่องผ้าอนามัยฟรี ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เขตบางคอแหลม ประจำปี พ.ศ.2566 ณ โรงเรียนวัดราชสิงขร เขตบางคอแหลม
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า หากจำกันได้เมื่อปีที่แล้วท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า หากให้เลือกเรื่องสำคัญที่อยากจะทำ มีสองเรื่องเท่านั้น คือ เรื่องสาธารณสุขและเรื่องการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องของเส้นเลือดฝอยและเป็นเรื่องที่เข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง สำหรับโครงการนี้เป็นการนำเรื่องสาธารณสุขและการศึกษามาผนวกเข้าด้วยกัน
ซึ่งเข้าถึงกลุ่มน้อง ๆ นักเรียนที่อยู่ในช่วงชีวิตสำคัญคือการก้าวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ สำหรับผ้าอนามัยฟรีที่กทม.แจกให้น้อง ๆ นักเรียน ไม่ได้จำกัดเพียงคนที่ประสบปัญหาขาดแคลน แต่เป็นนโยบายสำหรับนักเรียนหญิงทุกคนที่มีประจำเดือนให้เข้าถึงผ้าอนามัยในปริมาณที่เพียงพอ และหัวใจสำคัญของโครงการนี้ไม่ใช่การแจก ไม่ใช่การกุศล แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้เรื่องความแตกต่างทางเพศ การมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขอนามัยและเพศศึกษาเมื่อก้าวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์อย่างถูกต้อง
โดยในวันนี้ ได้นำร่องแจกผ้าอนามัยฟรี 7 โรงเรียนสังกัด กทม.ในเขตบางคอแหลม ได้แก่ โรงเรียนวัดราชสิงขร โรงเรียนวัดไผ่เงินโชตนาราม โรงเรียนวัดลาดบัวขาว โรงเรียนวัดจันทร์ใน โรงเรียนวัดจันทร์นอก โรงเรียนวัดไทร โรงเรียนวัดบางโคล่นอก โดยโครงการนำร่องครั้งแรกที่โรงเรียนวัดราชสิงขร ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวในพื้นที่เขตบางคอแหลมที่มีตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น มีนักเรียนราว 1,100 คน นักเรียนหญิงที่ร่วมโครงการประมาณ 200 คน อยู่ระหว่างชั้น ป.4-ม.3 ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องใช้งบประมาณของทางโรงเรียนในการจัดซื้อให้เด็กนักเรียน
สำหรับนโยบายนำร่องผ้าอนามัยฟรีของกรุงเทพมหานคร เกิดขึ้นเพื่อแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ช่วยเหลือนักเรียนหญิงที่อยู่ในระดับชั้น ป.4-ม.6 ของโรงเรียนในสังกัดกทม.จำนวนกว่า 100,000 คน ให้เข้าถึงการใช้ผ้าอนามัยและมีความรู้ในการดูแลสุขอนามัยของตัวเองและความรู้ด้านเพศศึกษาอย่างถูกต้องและถูกวิธี โดยปี 2566 ได้นำร่องแจกผ้าอนามัยใน 7 โรงเรียนที่เขตบางคอแหลม และจะเพิ่มเติมอีก 3 เขตในกรุงเทพมหานคร โดยได้รับการสนับสนุนผ้าอนามัยจากบริษัท Kao Industrial (Thailand) จำนวน 60,000 ชิ้น และการสนับสนุนกระบวนการให้ความรู้จากโครงการยังฝัน (YOUNGFUN)
ซึ่งในปี 2567 อยู่ระหว่างของบประมาณเพื่อขยายผลโครงการในอีก 109 โรงเรียน ให้เด็กนักเรียนหญิงมีผ้าอนามัยใช้ทุกเดือน โดยจัดให้คนละ 15 ชิ้นต่อเดือน ทั้งนี้ เป้าหมายในระยะยาวของนโยบายผ้าอนามัยฟรี คือการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกใน 2 มิติ คือ มิติที่ 1 ด้านสังคม ที่นักเรียนทุกคนต้องมีสุขอนามัยที่ดี มิติที่ 2 ด้านเศรษฐกิจ ที่ผู้หญิงไม่ต้องเผชิญภาระค่าใช้จ่ายผ้าอนามัยที่อาจสูงถึง 2,500 บาทต่อปี