KEY :
- พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สั่งการผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2566
- คาดฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด สิงหาคม – ตุลาคม 66 เน้นย้ำ สายด่วนนิรภัย 1784 รับแจ้งเหตุ
- พร้อมสแตนบายเจ้าหน้าที่พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง
…
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในวันนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝน ปี 2566 ซึ่งจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2566 โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศคาดการณ์ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อย และในช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย
สำหรับในช่วงเดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม เป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณประเทศไทย ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากและก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่
โดยได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ตั้งคณะทำงานเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อุทกภัย ทบทวนและปรับปรุงแผนเผชิญเหตุอุทกภัยของจังหวัดให้มีข้อมูลพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยดินถล่มในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน รายการเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัยของหน่วยงานต่าง ๆ การกำหนดจุด/พื้นที่ปลอดภัยประจำหมู่บ้าน/ชุมชน แผนอพยพประชาชน และสถานที่จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว ช่องทางการสื่อสาร ให้ชัดเจน
พร้อมทั้งให้มีการซักซ้อมแนวปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และใช้ประโยชน์จาก “ผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำในหมู่บ้าน/ชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map)” ในการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและการเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำ และวางแผนการติดตั้งเครื่องจักรกลสาธารณภัยในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยไว้เป็นการล่วงหน้าอย่างเป็นระบบเชื่อมโยงกัน
“สำหรับพื้นที่เสี่ยงในเขตชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และเส้นทางคมนาคมที่มักเกิดอุทกภัยเป็นประจำ ให้เร่งขุดลอกท่อระบายน้ำ ดูดเลน ทำความสะอาดร่องน้ำ และสำหรับคลอง แหล่งน้ำต่าง ๆ ให้กำจัดวัชพืช ขยะ สิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อใช้รองรับน้ำฝนและน้ำจากท่อระบายน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมทั้งให้วางแผนการลำเลียงน้ำที่มีการระบายในช่วงน้ำมากไปยังพื้นที่รองรับน้ำต่าง ๆ ที่มีน้ำน้อย พร้อมทั้งตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงสถานที่ใช้กักเก็บน้ำ กั้นน้ำ และปรับปรุงให้เกิดความมั่นคงแข็งแรงตามหลักวิศวกรรม เพื่อรองรับกรณีฝนตกหนักหรือน้ำไหลเข้า ไหลผ่านในปริมาณมาก และต้องตรวจสอบจุดเสี่ยงอันตรายจากกระแสไฟฟ้า หากประเมินว่าอาจเกิดอันตรายกับประชาชน ให้รีบตัดกระแสไฟฟ้าและเร่งรัดแก้ไขปัญหาโดยทันที
นอกจากนี้ หากมีแนวโน้มการเกิดสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ให้แจ้งเตือนไปยังกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธรณภัยแต่ละระดับ เพื่อเตรียมให้ความช่วยเหลือตามแผนเผชิญเหตุ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนทราบถึงสถานการณ์ แนวปฏิบัติให้เกิดความปลอดภัย ช่องทางการแจ้งข้อมูลและขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐในทุกช่องทางสื่อสาร”
พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าว
“กรณีเส้นทางคมนาคมมีน้ำท่วมขังหรือได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ให้จัดทำป้ายแจ้งเตือน และจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกแนะนำเส้นทางเลี่ยงที่ปลอดภัย โดยหากเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด หรือบ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วมขังสูงให้จัดยานพาหนะที่เหมาะสม อาทิ เรือ รถยกสูง อำนวยความสะดวกให้ประชาชน พร้อมทั้งเร่งซ่อมแซมเส้นทางที่ชำรุด/ถูกตัดขาด เพื่อให้การคมนาคมของพี่น้องประชาชนและภาคขนส่งสามารถใช้การได้ ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย และภัยต่าง ๆ ขอให้ได้ติดต่อประสานงานแจ้งสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เร่งให้การช่วยเหลือโดยทันที”
พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย