- ผลศึกษาพบ จีน – อินเดีย สูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยช้างป่ามากที่สุด
- หนุนเสริมนโยบายเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า – ใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน
- สถานการณ์ “ช้างป่าไทย” ดีขึ้นแต่ต้องลดปัญหาคนกับช้าง
Follow Up – ท่ามกลางวิกฤติสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างหนัก จากการเผาไหม้พลังงานทำร้ายชั้นบรรยากาศโลก ไม่เพียงส่งกระทบอย่างหนักต่อมนุษย์เราเท่านั้น ขณะนี้อีกหนึ่งผลพวงจากการตัดไม้ทำลายป่า ที่ทำกันอย่างต่อเนื่องยาวนานนับศตวรรษ ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับ “ช้างป่า” ในเอเชีย จากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติไปแล้ว เกือบ 2 ใน 3 เลยทีเดียว
ไม่เพียงเท่านั้น หากนับความการที่ดินเพื่อการเกษตร และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ปี 1700 จะพบว่ากิจกรรมเหล่านี้ ได้ส่งผลให้ช้างที่มีถิ่นกำเนิดใน 13 ประเทศทั่วเอเชีย เผชิญกับการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยในป่าและทุ่งหญ้ากว่า 64%
ขณะที่ผลศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในรายงานทางวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ในการจัดการกับการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก และความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับช้างที่เพิ่มขึ้น
ผลศึกษาชี้ว่า “จีน” เป็นประเทศ ที่ถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างลดลงมากที่สุดถึง 94% ของพื้นที่ที่เหมาะสม สำหรับการอยู่อาศัยของช้างในระหว่างปี ค.ศ. 1700 – 2015 ตามด้วย “อินเดีย” ที่สูญเสียพื้นที่มากถึง 86%
การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยในธรรมชาติ ทำให้ช้างต้องอพยพย้ายถิ่นฐานจากพื้นที่ของพวกมัน ซึ่งนำไปสู่ความท้าทายสำหรับชุมชนที่ไม่คุ้นชิน กับสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่แบบนี้ และเกิดเป็นความขัดแย้งในพื้นที่ทับซ้อน ระหว่างคนกับช้างมากขึ้น
ผลการศึกษาได้เน้นย้ำถึงความสำคัญ ของการระบุและเชื่อมต่อถิ่นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่าประชากรช้างในปัจจุบันจะอยู่รอดได้
การศึกษายังระบุอีกว่า การล่าอาณานิคมของยุโรปในภูมิภาคนี้ ในช่วงทศวรรษ 1700 ก็มีส่วนเร่งต่อการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย ของช้างป่าด้วยเช่นกัน ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า การสร้างถนน และการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากร และที่สำคัญการปฏิวัติอุตสาหกรรมและการเกษตรขนาดใหญ่ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ก็ทำให้สถานการณ์ยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีก
ผลการศึกษาเสนอว่าสิ่งสำคัญต้องจัดการกับบทบาท ของเกษตรกรในชนบทที่อยู่ชายขอบ และชุมชนชนพื้นเมือง ที่อยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน พร้อมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับชะตากรรมของช้างเอเชีย โดยการสนับสนุนองค์กรอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยของพวกมัน รวมทั้งสนับสนุนนโยบายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สัตว์ป่า และส่งเสริมการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน
สำหรับสถานการณ์ “ช้างไทย” นั้น จากข้อมูลกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่าในปี 2566 สถานการณ์ดีขึ้น โดยปัจจุบันช้างป่าในประเทศไทย มีจำนวนประชากรอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ประมาณ 4,013 – 4,422 ตัว ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน รวม 91 แห่งทั่วประเทศ
โดยในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบางแห่ง แต่ละพื้นที่สามารถพบช้างป่าได้ตั้งแต่น้อยกว่า 10 ตัว ไปจนถึง 200 – 300 ตัว โดยกลุ่มป่าที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ประชากรช้างป่า ได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าตะวันออก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าแก่งกระจาน
แม้ว่าในประเทศไทยแนวโน้มประชากรช้างป่าโดยรวม ยังคงที่และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน สภาพป่าที่เสื่อมโทรม และการรุกล้ำพื้นที่ป่าของมนุษย์ อาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างช้างป่า และชาวบ้านในพื้นที่ทับซ้อนมากขึ้น จากการขยับออกมาหาอาหารของช้าง ในพื้นที่การเกษตรของมนุษย์ตามแนวรอยต่อเขตป่า
ขอบคุณข้อมูล :
เว็บไซต์ onegreenplanet.org, Nearly Two-Thirds of Elephant Habitat Across Asia Has Been Lost
วารสาร Nature, Land-use change is associated with multi-century loss of elephant ecosystems in Asia
เว็บไซต์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช, ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาคนกับช้างป่าอย่างยั่งยืน
ขอบคุณภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช