เพจเฟสบุ๊กของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โพสต์ภาพและข้อความระบุว่า 17 เมษายน 2566 นายธีรวุฒิ นุ่นสังข์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากะทูนจ.นครศรีธรรมราช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รายงานว่า เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากะทูน ได้ติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera Trap) ในพื้นที่รับผิดชอบของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากะทูน ข้อมูลจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera Trap) สามารถบันทึกภาพนกหว้า ซึ่งจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทนกในลำดับที่ 762 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2562 The IUCN Red List of Threatened Species จัดให้อยู่ในกลุ่ม Vulnerable (VU) มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งจากการตรวจสอบเจ้าหน้าที่พบนกหว้าและได้ยินเสียงร้องของนกหว้า โดยคาดว่าน่าจะมีอยู่ประมาณ 20 ตัว และจะได้มีการสำรวจประชากรนกหว้าในพื้นที่ต่อไป
จากภาพแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากะทูน ซึ่งกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า หรือ Camera Trap นอกจากจะสามารถถ่ายภาพสัตว์ป่าเพื่อตรวจสอบความหลากหลายทางธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่าแล้ว ยังสามารถตรวจสอบการลักลอบกระทำผิดของผู้บุกรุกพื้นที่ป่าได้อีกด้วย
นอกจากนี้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากะทูน มีการนำระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) มาใช้ในการปฏิบัติงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นการช่วยป้องกันและปราบปรามการลักลอบล่าสัตว์ป่าและลดการบุกรุกทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าที่ได้ผลอย่างดียิ่ง
นกหว้า เป็นนกขนาดใหญ่ ความยาววัดจากปลายปากถึงปลายหางประมาณ 76 – 200 เซนติเมตร ไม่มีเดือย จัดอยู่ในสัตว์ปีกจำพวกไก่ฟ้าของไทย ตัวผู้มีความสวยงามมากกว่าตัวเมีย ตัวสีน้ำตาลปนเทา ขนปีกยาว มีจุดกลมคล้ายลูกตาบนปีกเป็นระยะตามความยาวของขนปีก กลางหัวมีขนเป็นหงอน หรือสันเล็ก ๆ หน้าและคอสีฟ้า ปากเหลือง แข้งและตีนสีแดง ตัวผู้มีขนหางคู่กลางยาวเลยเส้นอื่นออกไปมาก ส่วนตัวเมียจะไม่มี เป็นนกประจำถิ่นซึ่งค่อนข้างหายาก ได้รับสมญานามว่า “เจ้าไก่ป่าแห่งเมืองใต้”
#นกหว้า #ไก่ป่าแห่งเมืองใต้ #สิ่งแวดล้อม #ข่าว #ธรรมชาติ #ข่าววันนี้ #Mononews
Embed: