เร่งพิสูจน์ชนิดระเบิดสังหารกรุงเทพฯ
การค้นหาวัตถุพยานถือเป็นสิ่งสำคัญบทหนึ่งที่ควบคู่ไปกับการหาตัวผู้ก่อเหตุ เพราะวัตถุพยาน เช่นระเบิด เมื่อวิเคราะห์ได้ว่า เป็นชนิดใด จะสามารถจำกัดวงได้แคบลงว่ามีกลุ่มไหนบ้างที่มักใช้ระเบิดชนิดนี้ หรือผลิตจากที่ไหน ตำรวจจึงต้องเร่งค้นหา และระดมกำลังเต็มที่เพื่อให้ได้ชิ้นส่วนที่เหลือของระเบิดมากที่สุด ไปติดตามกันเลยค่ะ
กลุ่มลูกปืน ลักษณะเป็นเม็ดโลหะทรงกลม ถูกเก็บกู้ได้จำนวนมาก บริเวณที่ทีมค้นหาของตำรวจหน่วยเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด หรือ อีโอดี ได้ปฏิบัติการค้นหาตรงจุดท่าเรือสาทร
การค้นหาใช้เวลาสองวัน โดยครั้งที่สอง ต้องอาศัยการกั้นบริเวณด้วยกระสอบทรายกว่า 1 พันลูก แล้วสูบน้ำออก จากจุกเกิดเหตุ เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา
จนพบวัตถุพยานสำคัญทั้งชิ้นส่วนของระเบิดชนิดไพพ์ บอมบ์ และลูกปืนจำนวนหนึ่ง ซึ่งแน่ชัดว่าเป็นประเภทเดียวกันกับระเบิดที่ใช้ก่อเหตุหน้าศาลพระพรหมแยกราชประสงค์
การพบระเบิดชนิดนี้ ไม่เคยถูกบันทึกในการก่อวินาศกรรมกรุงเทพ เพราะที่ผ่านมาช่วงสิบปีหลัง ส่วนใหญ่เป็นระเบิดแบบแสวงเครื่องอนุภาพต่ำมุ่งสร้างสถานการณ์ หรือระเบิดสังหารแบบ rgd 5 ซึ่งผลิตใช้ในกองทัพคอมมิวนิสต์
แต่ระเบิดสองลูกล่าสุดนี้ มีลักษณะคล้ายแบบทีเอ็นที ซึ่งเป็นวัสดุระเบิดมาตรฐานที่ใช้กันมาก ทั้งการทหารและอุตสาหกรรม คุณสมบัติของมันคือ ทำงานได้แม้จะอยู่ใต้น้ำ และทนต่อการกระแทก เสียดสี
โดยข้อมูลเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่อีโอดี บอกว่า ระเบิดที่คนร้ายใช้ก่อเหตุที่สาทรนั้น พบหลักฐานว่ามีการจุดระเบิดด้วย “ชนวนเวลา” หรือ Time fuse ส่วนที่ราชประสงค์ไม่พบระบบการจุดระเบิด เนื่องจากการระเบิดสมบูรณ์จนทำลายชิ้นส่วนทั้งหมด ทำให้มีกระแสความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญว่า ที่แยกราชประสงค์ อาจเป็นระเบิดแบบ ซีโฟร์ โดยถ้าเทียบกันตามน้ำหนักแล้ว ซีโฟร์มีอนุภาพทำลายรุนแรงกว่า ทีเอ็นที 0.34 เท่า
แต่ความเห็นต่อวัสดุระเบิดทั้งสองชนิดนี้ ทีเอ็นที และซีโฟร์ บุคคลทั่วไป ไม่สามารถประกอบขึ้นได้เอง ซึ่งต้องใช้ทักษะและผ่านการเรียน อบรม เชี่ยวชาญการผลิตวัตถุระเบิดอย่างดี เพราะเป็นระเบิดสังหารใช้ในทางทหาร ซึ่งก็ต้องรอผลการพิสูจน์จากห้องแล็ปทางการให้แน่นอน เพื่อชี้ชัดว่าเป็นระเบิดชนิดใด…..