“หมอวรงค์” จรยุทธ์ทุ่งเนเปียร์ ล้มทุนผูกขาดพลังงาน ดันเกษตรเพื่อพลังงาน สร้างเศรษฐกิจใหม่ ลดค่าพลังงาน ปลดหนี้เกษตรกร สร้างรัฐสวัสดิการ
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี จรยุทธ์ทุ่งเนเปียร์ จ.ราชบุรี นำเสนอ นโยบายเกษตรเพื่อพลังงาน สร้างเศรษฐกิจใหม่ ว่า ภาระค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนขณะนี้อยู่ที่หน่วยละ 4.72 บาท และแนวโน้มค่าไฟฟ้าจะยังสูงขึ้น เนื่องจาก ภาระหนี้สินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่เกิดขึ้นจากการเอื้อประโยชน์ให้ทุนผูกขาด เพิ่มขึ้นถึง 1.5 แสนล้านบาท นี่คือภาระประชาชน ที่ต้องปลดแอก ถึงเวลาแล้วที่พรรคไทยภักดีต้องร่วมกับประชาชนหยุดทุนผูกขาดให้ได้ มิฉะนั้นประชาชนจะลำบากตลอดไป เนื่องจากว่าค่าไฟฟ้าจะเป็นต้นทุนของสินค้าและบริการทุกชนิด ไทยภักดีจึงเป็นทางออกที่จะเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา ค่าไฟฟ้าครัวเรือนหน่วยละ 2.50 บาท ก๊าซหุงต้มราคาถังละ 225 บาท ปุ๋ยยูเรียกระสอบละ 750 บาท
“พรรคการเมืองบางพรรคพยายามโจมตีว่า เป็นนโยบายประชานิยม จะต้องนำภาษีมาอุ้ม ขอย้ำว่า ไทยภักดีเป็นพรรคการเมืองที่ไม่ได้เอาภาษีมาอุ้มเรื่องพลังงาน แต่จะเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อหยุดทุนผูกขาดที่ใช้ฟอสซิล หันมาใช้พลังงานสะอาดที่เกิดจากพืชพลังงาน นี่คือหัวใจ” นพ.วรงค์ระบุ
นพ.วรงค์ กล่าวว่า ไม่น้อยกว่า 10 ปีที่ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าจากเนเปียร์ประมาณ 20 โรง แสดงให้เห็นว่า สามารถปฏิบัติการได้จริง เพียงแต่มีการปิดกั้น ขณะที่ทีมวิศวกรที่ปรึกษาของพรรคไทยภักดี ได้ดำเนินโครงการโรงงานนำร่อง ภายใต้นวัตกรรม Nipon Process Technology ที่สามารถผลิตไฟฟ้าต้นทุนต่ำ และได้ปรึกษากับบริษัทติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด เพื่อจดสิทธิบัตรที่สหรัฐอเมริกา
“นี่คือสิ่งที่ผมมายืนยันกับพี่น้องว่า เรามาช่วยกันโลกกำลังต่อต้านฟอสซิล พลังงานของประเทศต้องก้าวข้ามฟอสซิลเพื่อไปสู่พลังงานสะอาด แต่ทุนผูกขาด ทุนสามานย์ ร่วมมือกับนักการเมืองพยายามดึงทิศทางพลังงานสะอาดไปในทิศทางที่ไม่ใช่จุดแข็งของประเทศไทยนั้นคือจะพุ่งเป้าไปที่โซล่าฟาร์ม ไปที่พลังงานลม” นพ.วรงค์กล่าว
นพ.วรงค์ กล่าวว่า ผลของโครงการนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศ 5 ด้าน คือ ด้านพลังงาน ทิศทางของประเทศจะนำไปสู่พลังงานสะอาด การพึ่งพาตนเองด้านพลังงานและเป็นประเทศที่ผลิตพลังงานสะอาดรายใหญ่ของโลก ด้านการเกษตร จะมีการแบ่งพื้นที่เกษตรเพื่ออาหารให้เป็นเกษตรพื้นที่พลังงาน เป้าหมาย 90 ล้านไร่ ให้หลักประกันกำไร 10,000-14,000 บาทต่อไร่ต่อปี เกษตรกรสามารถปลดหนี้ภายใน 3 ปี ขณะที่ราคาผลผลิตเกษตรที่เป็นอาหารจะมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากการลดพื้นที่ปลูก ด้านเศรษฐกิจ ประเทศจะมีเงินเก้าแสนล้านถึงหนึ่งล้านล้านบาท ไหลรินไปตามครัวเรือนเกษตรกรทั่วประเทศ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยที่ไม่ต้องใช้ภาษี ด้านสิ่งแวดล้อม จะช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน และสุดท้าย จะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ สามารถสร้างรัฐสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนได้