![](https://mono29.com/app/uploads/2023/03/Ms-Poranee.jpg)
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึง บทบาทของ สสส. ในการสนับสนุนด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาสุขภาวะของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ในงานแถลงข่าว โครงการสร้างเสริมสุขภาวะให้กับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา ระดับประถมศึกษาในโรงเรียนเรียนร่วม ด้วยการใช้กิจกรรมทางกายเป็นสื่อ โดยระบุว่า สสส. ทำงานหลายประเด็น ซึ่งประเด็นกิจกรรมทางกายเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ สสส. ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีความจำเป็นพิเศษ สสส.ทำเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ คนหลายคนตกหล่นจากการสร้างเสริมสุขภาพตามปกติ สสส.จึงพยายามให้ความช่วยเหลือ โดยที่ผ่านมาได้ พัฒนาองค์ความรู้/นวัตกรรม/หลักสูตร/กระบวนการและผลักดันนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สนับสนุนให้เกิดการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชนและอื่นๆ พัฒนาศักยภาพคนพิการให้มีสมรรถนะที่เหมาะสมตามประเภทความพิการและตามช่วงวัย และพัฒนาภาคีเครือข่ายระดับต่างๆ รวมถึง สร้างความเข้าใจต่อเครื่องมือและกระบวนการต้นแบบที่สสส. ได้พัฒนาไว้ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ขยายผล สนับสนุนการพัฒนาระบบข้อมูลคนพิการ ในรูปแบบที่เข้าถึงและใช้งานได้สะดวก สนับสนุนให้เกิดกลไกในการติดตามประเมินผลและหนุนเสริมการดำเนินงานของภาคีอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง และสร้างประสบการณ์ร่วมและรณรงค์สื่อสารสาธารณะ เพื่อปรับเปลี่ยนเจตคติของคนพิการ ครอบครัว และสังคม ให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาสมรรถนะและคุณภาพชีวิตคนพิการในด้านต่างๆ โดยผลงานที่โดดเด่นคือการจ้างงานคนพิการได้มากกว่า 50,000 โอกาสงาน ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เสริมการมีศักดิ์ศรีและคุณค่าของคนพิการ
นางภรณี กล่าวว่า สสส. คาดหวังว่าหลักสูตรของโครงการนี้จะนำไปสู่การปฏิบัติ ได้ใช้ฝึกอบรมครูผู้สอนพลศึกษาหรือผู้สอนกิจกรรมทางกายที่อยู่ในโรงเรียนเรียนร่วม เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพด้านความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ ความสามารถ และเจตคติในการสอนกิจกรรมทางกาย ทำให้เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เกิดการพัฒนาสุขภาวะที่ดี โดยเฉพาะทางด้านร่างกาย รวมถึงให้เด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกันกับเด็กทั่วไปในการได้ฝึกกิจกรรมทางกาย และเรียนวิชาพลศึกษาอย่างถูกต้องตามหลักมาตรฐานและสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลาง
“สสส. ขอบคุณ กรมพลศึกษา สพฐ. ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ที่มาช่วยร่วมออกแบบสิ่งยากให้เป็นจริงได้ เพราะมีหลายเรื่องในการสร้างเสริมสุขภาพ ที่ สสส.ทำเพียงลำพังไม่ได้ หรือเป็นไปได้อย่างยากลำบาก งานนี้สำเร็จได้ด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน” นางภรณี กล่าวย้ำ
![](https://mono29.com/app/uploads/2023/03/IMG-199.jpg)
นางภรณี กล่าวว่า ในอนาคต อาจต้องขยายไปถึงเด็กในระดับมัธยมศึกษา เด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา เพื่อสร้างการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม เพราะเด็กทุ่มกลุ่ม ทุกช่วงวัยถือว่ามีความสำคัญ และ สสส.จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และย้ำว่า ขอสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้เด็กพิการและครอบครัว ให้มีกิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่อง
![](https://mono29.com/app/uploads/2023/03/Miss-Siriluck.jpg)
ด้าน นางสาวศิริรัตน์ สุภาพทรง ผู้อำนวยการกลุ่มการจัดการศึกษาในสถานศึกษาเฉพาะความพิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า หลักสูตรผู้สอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กบกพร่องทางสติปัญญาฉบับครูที่โครงการจัดทำขึ้น จะเป็นการเสริมศักยภาพของครูผู้สอนพลศึกษา ทั้งครูที่จบมาสายตรง หรือครูผู้สอนที่ไม่ได้จบมาโดยตรง ให้ได้รับการพัฒนา เพื่อประเมินเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาให้มีพัฒนาการอย่างเหมาะสม ตามความสามารถของเด็กเอง
“ในอนาคต อาจมีการลงนาม MOU ร่วมกัน เพื่อนำหลักสูตรไปบรรจุในหลักสูตรสถานศึกษาโดยเฉพาะ ทั้งโรงเรียนที่มีเฉพาะเด็กพิการและโรงเรียนเรียนร่วม เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ได้โดยตรง รวมถึงขยายผลไปยังเด็กพิการกลุ่มอื่นๆ เชื่อว่าน่าจะเกิดประโยชน์ต่อเด็กและเกิดการเรียนรู้ได้มากขึ้น” นางสาวศิริรัตน์ กล่าว
สำหรับ โครงการสร้างเสริมสุขภาวะให้กับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา ระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนเรียนร่วม ด้วยการใช้กิจกรรมทางกายเป็นสื่อ ได้ดำเนินมาถึงระยะที่ 2 ที่เป็นการนำ ร่างหลักสูตรผู้สอนกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ (ประเภทความบกพร่องทางสติปัญญา) ระดับประถมศึกษา ที่ได้จากการดำเนินการระยะที่ 1 มาทดลองใช้ในการจัดอบรมคุณครูที่รับหน้าที่สอนพลศึกษาในโรงเรียนเรียนร่วม โดยใช้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่นำร่อง และได้รับความร่วมมือจากศึกษานิเทศก์จังหวัดอุบลราชธานี ผู้อำนวยการและศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานีทั้ง 5 เขตพื้นที่
![](https://mono29.com/app/uploads/2023/03/Dr-Jin.jpg)
ดร.จิตตวดี ทองทั่ว ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผล สํานักงานศึกษาธิการจังหวัดอุบลราชธานี / ผู้เชี่ยวชาญโครงการสร้างเสริมสุขภาวะให้กับเด็กบกพร่องทางสติปัญญา ระดับประถมศึกษาในโรงเรียนเรียนร่วม ด้วยการใช้กิจกรรมทางกายเป็นสื่อ กล่าวว่า จากการทำงานที่ผ่านมาจะพบว่า โรงเรียนในจังหวัดอุบลราชธานีทั้ง 5 มีโรงเรียนที่จัดการศึกษากับเด็กพิการ 9 ประเภท ซึ่งจากการพิจารณา individual education plan (IEP) หลักสูตรเป็นรายบุคคลให้เหมาะกับเด็กแต่ละคน ก็จะพบว่า ครูเขียนแผนเพียงแต่เรื่องการอ่านออก เขียนได้ แต่ยังขาดเรื่องการช่วยเหลือตัวเอง ซึ่งมองว่ายิ่งเป็นเด็กที่มีความพิเศษ ก่อนจะพัฒนาเรื่องอื่น ต้องเสริมกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กลงมือทำ ช่วยเรื่องการเคลื่อนไหวทางกาย ซึ่งหากทำได้ ก็จะเป็นการส่งเสริมพัฒนาการแบบองค์รวม คือ ร่างกาย อามรมณ์ สังคม สติปัญญา
สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี ถือว่ามีจุดแข็งสำคัญ คือการมีภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกัน จึงทำให้สามารถเดินหน้าจัดการอบรมได้ ซึ่งหลังจากโครงการนี้จัดอบรมโรงเรียนนำร่อง 25 โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนตัวแทนเขตพื้นที่ละ 5 โรงเรียน ทำให้พบว่าครูเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อวิชาพลศึกษา โดยเฉพาะการทำกิจกรรมกับเด็กที่มีความพิเศษ ครูกล้าให้เด็กลงมือปฏิบัติเหมือนเด็กทั่วไป ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนว่า ครูมีความรู้ ความเข้าใจมากขึ้นในเรื่องการจัดการศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มนี้ โดยเฉพาะสิ่งที่ต้องระวัง หรือสิ่งที่ต้องเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังพบว่า ได้รับการตอบรับจากชุมชนโดยรอบเป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ก่อนหน้านี้อาจมองว่า
เด็กจะไม่สามารถทำกิจกรรมได้เหมือนเด็กทั่วไป แต่เมื่อได้รับการสอนอย่างถูกต้อง ก็ทำได้ ถือเป็นการสร้าง Self Esteem (การเห็นคุณค่าในตนเอง) ได้อีกทางหนึ่ง
ส่วนแนวทางการทำงานในอนาคตนั้น ดร.จิตตวดี ระบุว่า อาจจะต้องหาโรงเรียนต้นแบบในแต่ละพื้นที่ จาก 25 โรงเรียนที่เข้ารับการอบรม เพื่อขยายหลักสูตร เพราะการมีโรงเรียนต้นแบบจะเป็นการช่วยกระตุ้นให้โรงเรียนอื่นๆ อยากมีส่วนร่วมมากขึ้น ขณะเดียวกันศึกษานิเทศก์ จังหวัดอุบลราชธานี อาจจะต้องหาว่ามีเด็กบกพร่องทางสติปัญญาอยู่ที่ใดบ้าง และให้นำหลักสูตรนี้ไปใช้ จากนั้นก็จะเข้าไปติดตามประเมินผล
“สิ่งสำคัญ คือการสร้างมุมมองร่วมกับผู้บริหารโรงเรียน ในฐานะเสาหลักขับเคลื่อนประเด็นนี้ เมื่อมีหลักสูตร มีแนวทาง มีการสร้างทัศนคติร่วมกันแล้ว ก็ควรจะทำให้เกิดการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อพัฒนาเด็กร่วมกัน” ดร.จิตตวดี กล่าวทิ้งท้าย