กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดสถิติหน้าร้อน ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบ “เด็กจมน้ำ” กว่า 9 ร้อยราย พบเด็กจมแหล่งน้ำธรรมชาติมากสุด แนะผู้ปกครองสนับสนุนให้เด็กเรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ด้านหมอเพชรดาว รองประธาน กมธ.การสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ชี้นโยบายกู้ชีพฉุกเฉินเป็นหน้าที่ทุกภาคส่วน ร่วมกับ สสส.ให้ความรู้เด็ก – เยาวชน พร้อมฝึกทักษะ กู้ชีพ กู้ภัย เตรียมพร้อมรับมืออุบัติเหตุและภัยพิบัติ
ช่วงฤดูร้อนและเป็นช่วงที่เด็กๆปิดเทอม อาจมีการชวนกันไปเล่นน้ำตามลำพัง โดยขาดการดูแลจากผู้ปกครอง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจมน้ำได้ นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561 – 2565) มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตในช่วงฤดูร้อน ซึ่งตรงกับช่วงปิดเทอม (เดือนมีนาคม – พฤษภาคม) จำนวน 953 ราย เฉลี่ยวันละ 2 ราย เดือนเมษายนพบเหตุการณ์จมน้ำมากที่สุด 65 ราย รองลงมาคือ เดือนมีนาคม 64 ราย และเดือนพฤษภาคม 63 ราย
โดยมีจังหวัดที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากกว่า 10 ราย ถึง 40 จังหวัด เสียชีวิต 6-10 ราย มี 19 จังหวัด เสียชีวิต 2-5 ราย มี 16 จังหวัด และมีเพียง 2 จังหวัดที่เสียชีวิตน้อยกว่า 2 ราย ได้แก่ จังหวัดระนอง และลำพูน ซึ่งแหล่งน้ำที่พบว่าเด็กจมน้ำมากที่สุด คือ แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ร้อยละ 76.5, เขื่อน/อ่างเก็บน้ำ/ฝาย ร้อยละ 11.1, ทะเล ร้อยละ 5.3, ภาชนะภายในบ้าน ร้อยละ 3.5 และสระว่ายน้ำ/สวนน้ำ ร้อยละ 1.8 โดยสาเหตุหลักเกิดจากการเล่นน้ำมากที่สุด ร้อยละ 59.4 รองลงมาคือ พลัดตกลื่น ร้อยละ 21.5 โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ ขาดการดูแลจากผู้ปกครอง และขาดความรู้เรื่องแหล่งน้ำที่มีความเสี่ยง
10 จังหวัดแรกที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุดในช่วงฤดูร้อน ปี 2561 ถึง 2565 ได้แก่ บุรีรัมย์ 45 ราย, อุดรธานี 38 ราย, นครราชสีมา 37 ราย, สุรินทร์ 30 ราย, ร้อยเอ็ด 28 ราย, สกลนคร 28 ราย, นครสวรรค์ 26 ราย, ขอนแก่น 25 ราย, นครศรีธรรมราช 25 ราย และปัตตานี 24 ราย โดย 7 ใน 10 จังหวัดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มอายุที่จมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุด คือเด็กอายุ 5-9 ปี (ร้อยละ 42.1) รองลงมาคือ อายุ 0-4 ปี (31.5) และอายุ 10-14 ปี (26.4) เพศชายจมน้ำสูงกว่าเพศหญิงถึง 2.2 เท่าตัว
กรมควบคุมโรค มีคำแนะนำสำหรับผู้ปกครองในหน้าร้อนนี้ คือ 1) เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ควรได้เรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด เนื่องจากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ที่ผ่านมา เด็กขาดโอกาสในการเรียนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด และวิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำหรือจมน้ำที่ถูกต้อง 2) เด็กเล็กต้องอยู่ในระยะที่แขน เอื้อมถึงหรือคว้าถึง ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิด และ 3) ขอแนะนำให้ประชาชนทุกคนสวมเสื้อชูชีพหรือใช้อุปกรณ์ลอยน้ำได้อย่างง่าย เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่าทุกครั้งที่เดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ
สาเหตุการเสียชีวิตในคนไทย โดยส่วนใหญ่เกิดจาก โรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจและหลอดเลือด โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และอุบัติเหตุจมน้ำ ผู้ป่วยหรือผู้ได้รับบาดเจ็บบางรายอาจมีภาวะการหยุดหายใจกะทันหัน หากปล่อยไว้นานเกิน 4 นาที แม้จะช่วยให้ฟื้นคืนชีพกลับมาได้ ก็จะเกิดสภาวะการตายของสมองอย่างถาวร การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน หรือ CPR จึงเป็นสำคัญในช่วงเวลาฉุกเฉิน
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. เผยว่ามีการศึกษาวิจัยพบว่าหากผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือทันทีหลังจากหัวใจหยุดเต้นภายใน 4 นาที จะทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิตมากกว่า 4 เท่า อีกทั้งยังเป็นมาตรฐานการเข้าช่วยชีวิตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติอีกด้วย ดังนั้นการได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างทันท่วงทีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และมีการส่งต่อผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บไปยังแพทย์หรือสถานพยาบาลอย่างเหมาะสมรวดเร็ว และถูกวิธีจะทำให้ผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บมีโอกาสรอดชีวิตและกลับคืนมาใช้ชีวิตเป็นปกติได้
สสส. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบกู้ชีพ-กู้ภัย ที่ผ่านมาได้มีการขับเคลื่อนและพัฒนางานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อพัฒนาหลักสูตรที่จะทำให้หน่วยกู้ชีพมีความรู้ความสามารถในการเข้าช่วยชีวิตผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินในระดับพื้นที่ได้ทันในระดับเบื้องต้น เช่น หลักสูตร FR (First Response) ที่พัฒนาขึ้นให้กับทีมกู้ชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น ตลอดจนการให้ความรู้กับประชาชนในเบื้องต้นร่วมกับกรม ปภ. เพื่อให้สามารถช่วยชีวิตผู้ประสบเหตุหรือผู้ป่วยได้ทันท่วงที นอกจากนี้ยังจัดทำสื่อในรูปแบบคลิปวิดีโอ สร้างความรู้การใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator: AED) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพา ในชื่อ “AED กระตุกหัวใจ เครื่องมือช่วยชีวิต ที่ทุกคนใช้ได้” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของ “เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า (AED)” เพิ่มโอกาสรอด ลดความสูญเสีย และช่วยเหลือไม่ให้หัวใจใครต้องหยุดเต้น
นอกจากนี้ สสส. ยังร่วมกับแพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา เลขานุการคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ลงพื้นที่เชิงรุกที่จังหวัดยะลา จัดสัมมนา “การกู้ชีพ กู้ภัย และการจัดการสาธารณภัยเบื้องต้น เพื่อเตรียมรับมือภัยพิบัติ” ณ สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง)
แพทย์หญิงเพชรดาว ย้ำว่าการปฐมพยาบาลเบื้องต้นมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการฝึกอบรมที่ถูกต้อง เพื่อให้พร้อมต่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน หลักสูตรการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (Basic CPR) และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) จะทำให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้วิธีการช่วยเหลือและฝึกปฏิบัติจริงกับอุปกรณ์เพื่อให้ฝึกปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เพราะการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา
โดยที่ผ่านมามีการประชุมควบคู่กับการลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์ วางแนวทางป้องกัน อย่างที่ จ.ปัตตานี ระหว่างเดินทาง เคยพบเด็กจมน้ำซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ โดยไม่มีอะไรแจ้งเตือนว่าเป็นเขตอันตราย ช่วยเหลือทำ CPR จนถึงโรงพยาบาลไม่สามารถช่วยชีวิตได้ทัน เพราะเด็กจมน้ำนาน 15 นาที และญาติช่วยเหลือผิดวิธีก่อนที่เจ้าหน้าที่กู้ชีพฉุกเฉินพบเจอ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้คณะกรรมาธิการฯ เดินหน้าทำงานเชิงรุก ตั้งเป้าแก้ปัญหาไปที่เด็ก-เยาวชน ที่บ้านอยู่ติดริมน้ำ ริมทะเล หรือในละแวกชุมชน ห้วย หนอง คลอง บึง ที่อาจสุ่มเสี่ยงอันตราย ในภาคใต้ได้ร่วมกับกลุ่มลูกเหรียง จ.ยะลา และ รร.เดชะปัตตนยานุกูล จ.ปัตตานี เพราะมองว่าเด็ก-เยาวชน โดยเฉพาะเด็กอายุก่อน 14 ปี จะมี Growth Mindset สามารถจำ ทำ เลียนแบบ และส่งต่อการเรียนรู้แบบพี่สอนน้องได้ โดยเฉพาะคำว่า “ตะโกน โยน ยื่น” เป็นทักษะที่จำเป็นเมื่อพบเจอคนจมน้ำในสถานการณ์ฉุกเฉิน