KEY :
- พิธีไหว้ครูในปี 2566 วัดบางพระ จ.นครปฐม จัดขึ้นในวันนี้ (4 มีนาคม 2566)
- วัดแห่งนี้ยังขึ้นชื่อเป็นอย่างมาก เกี่ยวกับการสักยันต์ โดยเฉพาะยันต์เสือเผ่น
…
การลงลวดลาย ลงบนผิวหนัง หรือที่ว่าที่เรียกกันว่าการสักยันต์นั่น ถือเป็นศิลปะและวัฒนธรรม ที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างช้านาน มีการผูกโยงความเชื่อทางเรื่องของไสยาสน์ เกี่ยวกับการลงเมตตามหานิยม หรือว่าเป็นการสักยันต์เพื่อให้อยู่ยง คงกระพัน
ยันต์ยอดนิยม หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ จ.นครปฐม นั้น แม้ว่า “พระอุดมประชานาถ” หรือที่รู้จักกันดีในนาม “หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ” นามเดิม เปิ่น นามสกุล ภู่ระหงษ์ เกิดวันอาทิตย์ที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๖ เดือน ๙ ปีกุน หลวงพ่อเปิ่นได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระอุดมประชานาถ
กระทั่งวันที่ ๓๐ มิ.ย. ๒๕๔๕ พระอุดมประชานาถ (หลวงพ่อเปิ่น) ท่านก็ได้ละสังขารจากโลกนี้ไป สิริอายุ ๗๙ ปี ๕๔ พรรษา แต่วัดแห่งนี้ยังขึ้นชื่อเป็นอย่างมาก เกี่ยวกับการสักยันต์ โดยเฉพาะยันต์เสือเผ่น ศิษยานุศิษย์และมีผู้คนมากมายทั้งชาวไทยและต่างชาติ เดินทางหลั่งไหลมาเข้าคิวรอสักยันต์ ก่อนพิธีไหว้ครูในปี 2566 จะเริ่มขึ้น วันนี้ ( 4 มีนาคม 2566 ) ในเวลา 09:39 น.เป็นต้นไป
ตำนานการสักยันต์ของวัดบางพระ
โดยตำนานการสักยันต์ของวัดบางพระกล่าวไว้ว่า หลวงพ่อเปิ่นท่านได้สืบสานตำรับวิชาการสักยันต์จากหลวงพ่อหิ่ม อินฺทโชโต โดยก่อนที่หลวงพ่อหิ่มท่านจะมรณภาพ ท่านได้ถ่ายทอดวิชาอาคม คาถาไสยเวทย์ และตำรายาสมุนไพร ให้แก่หลวงพ่อเปิ่นจนหมดสิ้น ด้วยท่านเล็งเห็นว่า ต่อไปยุคหลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ จะเจริญก้าวหน้า รุ่งเรืองสุดขีด
สรรพวิชาอาคม ทางไสยเวทย์ แห่งลุ่มน้ำนครชัยศรี หลวงพ่อหิ่มท่านได้ถ่ายทอดไว้ให้กับหลวงพ่อเปิ่นจนหมดสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงนะหน้าทอง ลงสาริกาลิ้นทอง และการลงอักขระสักยันต์อันมีชื่อเสียงโด่งดังในปัจจุบัน เมื่อคราวรื้อกุฏิหลวงพ่อหิ่ม และกุฏิริมน้ำของหลวงพ่อเปิ่น ได้พบตำราพระเวทย์คาถา คัมภีร์ใบลานเก็บอยู่ในหีบเหล็กเก่าแก่ และบนเพดานกุฏิ พบพระพุทธรูปเก่าปางต่าง ๆ และพระผงอีกจำนวนหนึ่ง
ตำราใบลานที่ปรากฏพบนี้ มีทั้งตำราวิชาอาคม การฝังรูปฝังรอยเสน่ห์เมตตามหานิยม อักขระเลขยันต์ต่าง ๆ ตำรายารักษาโรค ในปัจจุบันได้มอบให้ พระครูอนุกูลพิศาลกิจ (เจ้าอาวาสวัดบางพระรูปปัจจุบัน) พระอาจารย์ต้อย พระอาจารย์ติ่ง พระอาจารย์อภิญญา เก็บรักษาไว้ ให้ศึกษา เมื่อลูกศิษย์ท่านใดมีเรื่องไม่เข้าใจ ท่านก็จะชี้แนะให้จนเข้าใจ ตำรามหายันต์วัดบางพระ รูปอักขระเลขยันต์ ที่หลวงพ่อเปิ่นสักให้นั้นมีความหมายทุกตัวอักขระ รูปลักษณ์ต่าง ๆ
หลวงพ่อจะประสิทธิ์ประสาทให้แก่ทุกคนที่มาขอรูปยันต์ที่สักให้อาจจะไม่ เหมือนกันหมดแล้วแต่หลวงพ่อจะดูว่าผู้นั้นเป็นใครมาจากไหน อักขระรูปลักษณ์ ที่สักกันส่วนมากจะใช้ คือ ยันต์หอมเชียง (พระพุทธ ๑๐๘) ยันต์เก้ายอด ยันต์งบน้ำอ้อย ยันต์แปดทิศ ยันต์สายสังวาลย์ ยันต์หนุมานออกศึกยันต์หนุมานอมเมือง ยันต์พ่อแก่ฤาษี ยันต์แม่ทัพ ยันต์ดำดื้อ ยันต์เสือเผ่น ยันต์มงกุฎพระพุทธเจ้า (หมวกเหล็ก) ยันต์นกสาริกา ยันต์จิ้งจกสองหาง ยันต์องค์พระพุทธ ยันต์ราชสีห์ ยันต์เกราะเพชร ยันต์หมูทองแดง ยันต์ปลาไหล ยันต์บัวแก้ว ยันต์พระราหู ยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ยันต์ลิงลม ยันต์พระเจ้าสิบหกพระองค์ ยันต์พญาหงษ์ ยันต์ไตรสรณาคมน์ ยันต์หัวใจต่าง ๆ ฯลฯ
การ “สัก” คืออะไร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยถาน พ.ศ.๒๕๒๕ เขียนว่า “สัก” คือ การเอาเหล็กแหลมแทงลงด้วยวิธีการหรือเพื่อประโยชน์ ต่างๆ กันใช้เหล็กแหลมจุ้มหมึกหรือน้ำมันงาผสมว่าน ๑๐๘ ชนิดเป็นต้น แทงที่ผิวหนังให้เป็นอักขระเครื่องหมายหรือลวดลายถ้าใช้หมึกเรียกว่าสัก หมึก, ถ้าใช้น้ำมันเรียกว่าสักน้ำมัน ทำเครื่องหมายสักเพื่อแสดงเป็นหลักฐานเช่น “สักข้อมือ”แสดงว่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นชายฉกรรจ์หรือมีสังกัดกรมกอง แล้วสักหน้าแสดงว่าเป็นผู้ต้องโทษปาราชิกเป็นต้น
ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้สักยันต์ (เฉพาะวัดบางพระ)
สำหรับข้อห้าม และข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้สักยันต์ (เฉพาะวัดบางพระ) โดยข้อห้ามและข้อปฏิบัติ (สำหรับผู้สักยันต์) จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละสำนัก ข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้สักยันต์ของทางวัดบางพระ (ในปัจจุบัน) ที่ได้เรียนสอบถามกับท่านพระครูอนุกูลพิศาลกิจ (หลวงพ่อสำอางค์ ปภสฺสโร) เจ้าอาวาสวัดบางพระรูปปัจจุบัน ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ดังนี้
- ๑. ห้ามด่าพ่อแม่บุพการี (ทั้งของตนเองและผู้อื่น)
- ๒. ห้ามผิดลูกผิดเมียผู้อื่น (ผิดลูก หมายถึง ไปล่วงเกินลูกของผู้อื่น กล่าวคือผู้ที่ยังมีผู้ปกครองดูแลอยู่, ผิดเมีย หมายถึง ไปล่วงเกินภรรยา รวมถึงสามีของผู้อื่น และคนที่มีคู่ครองอยู่แล้ว ด้วยเช่นกัน)
- ๓. ห้ามลอดไม้ค้ำต้นกล้วย
- ๔. ห้ามลอดสะพานหัวเดียว (สะพานหัวเดียว มีลักษณะเป็นสะพานริมตลิ่งที่ยื่นลงไปในแม่น้ำ)
- ๕. ห้ามลอดราวตากผ้า (ราวแขวนเสื้อผ้าขายแบบในตลาดทั่วไปไม่ได้ห้าม)
- ๖. หมั่นรักษาศีล ๕ อย่างเคร่งครัด
ข้อปฏิบัติผู้ที่ทำผิดข้อห้าม
ในสมัยก่อนจะมีห้ามกินมะเฟือง น้ำเต้า ฯลฯ แต่ปัจจุบันไม่ได้ห้ามแล้ว โดยหลวงพ่อท่านบอกว่า “ขืนห้ามกินมีหวังอดตาย!!” (ประหนึ่งว่าท่านให้พิจารณาว่าคุณค่าแท้ของการกินอาหารเป็นไปเพื่อยังอัตภาพร่างกายให้ดำรงอยู่ได้เพียงเท่านั้น) สำหรับผู้ที่ประพฤติผิดข้อห้ามและข้อปฏิบัติ ก็จะมีผลทำให้อิทธิคุณของรอยสักพร่องไปไม่สมบูรณ์ หรือที่เรียกกันว่า “ของเสื่อม” วิธีแก้ไขสำหรับผู้ที่ประพฤติผิดข้อห้ามและข้อปฏิบัติมี ๒ วิธี (อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้) คือ
- ๑. ขอขมาลาโทษสำนึกต่อสิ่งที่ได้เผลอทำพลาดพลั้งไป แล้วมาให้หลวงพ่อสำอางค์ท่านเป่าครอบให้ใหม่อีกครั้ง (ทำผิดอีกก็ต้องมาเป่าครอบใหม่อีกเรื่อยไป)
- ๒. เข้าพิธีไหว้ครูใหญ่ของทางวัดบางพระ (ไหว้ครูประจำปี) ในพิธีไหว้ครูก็จะจัดให้มีมีการกล่าวบูชาครู การขอขมาลาโทษครูบาอาจารย์ต่อสิ่งที่ได้กระทำผิดสัจจะคำครู เป็นต้น
ส่วนที่เข้าใจกันว่าเมื่อเข้าพิธีไหว้ครูเพียงครั้งเดียวแล้วจะทำให้รอยสักไม่เสื่อมตลอดไป อันนี้ก็เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะเมื่อเข้าพิธีไหว้ครูแล้วไปทำผิดข้อห้ามข้อปฏิบัติอีก อิทธิคุณของรอยสักก็จะพร่องไม่สมบูรณ์เหมือนเดิมอีกเช่นกัน
ดังนั้น ทางที่ดีคือควรพยายามรักษาสัจจะไม่ให้ผิดข้อห้ามคำครูเป็นการดีที่สุด สำหรับผู้ที่ต้องการสักยันต์ที่วัดบางพระ ก็ควรพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจสักยันต์ หากมั่นใจว่าตนเองสามารถรักษาข้อห้าม ทำตามข้อควรปฏิบัติตามสัจจะคำครูดังนี้ได้ ก็ค่อยมาฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อเข้ารับการสักยันต์ ไม่เช่นนั้นรอยสักที่แผ่นหลังก็จะไม่ต่างไปกับผิวหนังเปื้อนหมึก (ในกรณีที่ไปประพฤติตัวไม่ดี สัญลักษณ์ร่องรอยการสักบนผิวหนังก็จะเป็นเครื่องฟ้องว่า “เป็นศิษย์จากสำนักใด”)
ย้ำอีกครั้งว่า แต่ละสำนักก็จะมีข้อห้ามข้อปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป สำหรับข้อมูลที่นำมาลงไว้นี้เป็นข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่สักยันต์ของสำนักวัดบางพระเท่านั้น!! (สำหรับคนที่บอกว่า “ถือมากไปก็หนัก” พระอาจารย์รูปหนึ่งท่านฝากถามกลับว่า “แล้วจะสักไปเพื่ออะไร?”)
ข้อมูล – เพจ facebook วัดบางพระ จ.นครปฐม (หลวงพ่อเปิ่น)
ภาพ – วิชาญ โพธิ