ตำรวจสืบสวนนครบาล นำกำลังเข้าจับกุมนางสาว นภาพร อายุ 25 ปี ที่บริเวณข้างร้านสะดวกซื้อ ถนนประชาพัฒนา แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ หลังตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดพิษณุโลก ในข้อหา “ฉ้อโกงประชาชน / นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนอันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา”
สืบเนื่องจาก พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ปราบปรามกลุ่มเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมที่กระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ ซึ่งสร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนผู้สุจริตจำนวนมาก โดยชุดลาดตระเวนออนไลน์ กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มผู้เสียหายซึ่งเคยถูกคนร้ายชื่อ “นภาพร” ก่อเหตุโดยสร้างเฟซบุ๊กชื่อบัญชีต่างๆ หลอกให้โอนเงินค่าสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ จนผู้เสียหายทนไม่ไหวถึงขั้นรวมตัวกันกว่า 600 คน ตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก ชื่อ “ จับคนโกง นภาพร-แสงจันทร์-ปนัดา-ปภัสสร-สุขใจ – napaporn sangjan” เพื่อร่วมกันแชร์ประสบการณ์ แนะวิธีการเก็บข้อมูลพยานหลักฐาน เพื่อแจ้งความดำเนินคดีเมื่อถูกก่อเหตุ ตลอดจนหาวิธีการช่องทาง เพื่อประสานตำรวจในการล่าตัวคนร้ายที่ก่อเหตุมาดำเนินคดีตามกฎหมาย
โดยผู้เสียหายที่รวมกลุ่มได้ประสานให้ตำรวจชุดลาดตระเวนออนไลน์ จากกองกำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อให้เร่งสืบสวนติดตามจับกุมผู้ต้องหาคนดังกล่าว ซึ่งยังหลบหนี และยังก่อเหตุต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 ต่อมาเมื่อช่วงค่ำวานนี้ (2 มี.ค.66) ทางตำรวจได้ร่วมกันสืบสวนติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ดังกล่าว
จากการสอบสวนผู้ต้องหา รับสารภาพว่า ตนเองเรียนจบชั้น ป.6 เมื่อช่วงประมาณปี 2558 ขณะนั้นอายุ 18 ปี มีอาชีพขายเสื้อผ้าผู้หญิงออนไลน์ รวมทั้งรับเป็นตัวแทนนายหน้าโพสต์ขายเครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิวทางออนไลน์ด้วย โดยได้เปอร์เซ็นต์ตามยอดที่ขายได้ ซึ่งไม่พอค่าใช้จ่ายส่วนตัว จึงคิดโลภนำประสบการณ์จากการขายของออนไลน์มาหลอกผู้เสียหาย โดยมีความคิดว่า ถ้าโกงเงินผู้เสียหายในยอดเงินไม่เกิน 2,000 บาท น่าจะไม่ค่อยมีผู้เสียหายติดตามดำเนินคดี จึงได้สร้างบัญชีเฟซบุ๊กจำนวนมากขึ้นมา เช่น ชื่อบัญชี “ ปนัดา สุขใจ ” / “ ปภัสสร สุขใจ ” / และ “ napaporn sangjan ” เพื่อเข้าไปโพสต์หลอกขายของในกลุ่มเฟซบุ๊กต่างๆ กว่า 600 กลุ่ม โดยเฉลี่ยมีผู้เสียหายหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อเดือนละประมาณ 20 ราย มีรายได้จากผู้เสียหายที่หลงเชื่อรายละ 500 ถึง 1,500 บาท ที่ผ่านมาก่อเหตุมาตั้งแต่ปี 2558 มูลค่าความเสียหายกว่า 2 ล้านบาท เงินที่ได้จากการก่อเหตุรับว่านำไปใช้จ่ายในครอบครัว
ทั้งนี้ ทางตำรวจจึงได้นำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก เพื่อดำเนินคดีต่อไป
#หลอกสูญเงิน #มิจฉาชีพออนไลน์ #ขายของออนไลน์ #ข่าว #ข่าวโมโน29 #Mono29News #Mono29