KEY :
- กรุงเทพมหานคร ฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน มีผลกระทบต่อสุขภาพ 61 พื้นที่
- สาเหตุหลักปริมาณฝุ่นในกรุงเทพมหานคร คือ ฝุ่นเกิดจากควันรถ เมื่อมีกระแสลมอ่อน อากาศเย็น ลอยต่ำ ส่งผลฝุ่นควันถูกกักเก็บอยู่ในอากาศนาน
- แนะประชาชนกลุ่มเสี่ยงควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส แต่ยังคงทำให้ภาคเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า ส่วนตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
โดยภาพบรรยากาศของสภาพอากาศบริเวณ สวนจตุจักร เขตจตุจักร เมื่อช่วงเช้าวันนี้ 01 มีนาคม 2566 ) เมื่อเวลา 06.30 น. พบว่า ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 เริ่มมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุหลักปริมาณฝุ่นในกรุงเทพมหานคร คือ ฝุ่นเกิดจากควันรถ เมื่อมีกระแสลมอ่อน อากาศเย็น ลอยต่ำ ส่งผลฝุ่นควันถูกกักเก็บอยู่ในอากาศนาน หลังจากนั้นในช่วงบ่ายปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กก็จะลดลง
กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทย แจ้งว่า ประจำวันพุธ ที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2566 เวลา 09:00 น. คุณภาพอากาศบริเวณ สวนจตุจักร เขตจตุจักร พบปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีค่า 52 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ทั้งนี้ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง(คาดการณ์แนวโน้มสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อฝุ่นPM2.5 โดยสภาพทางอุตุนิยมวิทยา) ในช่วงวันที่ วันที่ 28 ก.พ.-3 มี.ค.2566 การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างอ่อน ประกอบกับมีสภาวะอากาศปิดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการสะสมของฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้น ช่วงวันที่ 4-8 มี.ค. 2566 การระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี และอากาศค่อนข้างเปิด ส่งผลให้ฝุ่น PM2.5 สามารถแพร่กระจายและมีแนวโน้มลดลง
ซึ่งในวันนี้บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนเริ่มมีกำลังอ่อนลง ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีอากาศเย็นในตอนเช้า มีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส ควรระวังอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศแห้งในระยะนี้
ประชาชนทั่วไป: ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ถ้ามีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น กลุ่มเสี่ยง: ประชาชนกลุ่มเสี่ยงควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ เช่น ไอ หายใจลำบาก ตาอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ควรปรึกษาแพทย์ * ประชาชนกลุ่มเสี่ยง หมายถึง เด็ก คนชรา หญิงมีครรภ์ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มโรคทางเดินหายใจ และโรคหัวใจและหลอดเลือด
ภาพ – วิชาญ โพธิ