นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา แถลงผลงานสำคัญปี 2564-2565 ชู 4 ภารกิจเด่นพลิกโฉมวงการทรัพย์สินทางปัญญาไทย เพื่อเป้าหมายในการนำพาประเทศไทยก้าวพ้นกับดักเศรษฐกิจรายได้ปานกลาง โดยส่งเสริมให้คนไทยเป็นเจ้าของนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาที่มีมูลค่า ซึ่งที่ผ่านมา กรมฯ ได้ดำเนินภารกิจสำคัญ ได้แก่ นโยบาย Smart DIP นำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการประชาชน อาทิ จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเร่งด่วน จาก 12 เดือน เหลือ 4 เดือน ต่ออายุเครื่องหมายการค้าเร่งด่วน จาก 60 วัน เหลือ 30 นาที ระบบตรวจสอบความเหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้าด้วยภาพ (Image Search) สามารถสืบค้นผ่านทางออนไลน์และทราบผลทันทีภายใน 2 นาที ระบบแจ้งเตือนสิทธิบัตรที่หมดอายุและใกล้หมดอายุความคุ้มครอง เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปพัฒนาต่อยอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยา เป็นต้น
นายวุฒิไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาเชิงพาณิชย์
กรมฯ ผลักดันการยกระดับอุตสาหกรรมกีฬาไทยด้วยทรัพย์สินทางปัญญา โดยคนไทยเป็นเจ้าของรายการแข่งขันเจ็ตสกีชิงแชมป์โลก WGP#1 ใน 3 สนาม ทั้งสหรัฐอเมริกา โปแลนด์ และไทย ออกอากาศไปยัง 120 ประเทศทั่วโลก
สร้างรายได้กว่า 5,000 ล้านบาท จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมในมหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมและการต่อยอดเชิงธุรกิจ ส่งเสริมการซื้อขายผลงานลิขสิทธิ์ในรูปแบบ NFT Art และบ่มเพาะผู้ประกอบการไทยผ่านรายการ The Pitching สร้างมูลค่ากว่า 136.1 ล้านบาท
สำหรับการส่งเสริมสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ กรมฯ ประกาศขึ้นทะเบียน GI ไทยรวม 177 สินค้า สร้างมูลค่าทางการค้ากว่า 48,000 ล้านบาท ร่วมมือกับโมเดิร์นเทรดและแพลตฟอร์มออนไลน์ขยายช่องทางจำหน่ายสินค้า GI
พร้อมจับคู่ธุรกิจเซ็นสัญญาซื้อขายสินค้า GI ล่วงหน้า สนับสนุนสินค้า GI เป็นวัตถุดิบปรุงอาหารเสิร์ฟในการประชุม APEC 2022 และนำเชฟมิชลินลงพื้นที่ภาคอีสานคัดสรรวัตถุดิบ GI มาทำอาหารสไตล์ฟิวชั่น พร้อมต่อยอดแหล่งผลิตเป็นแหล่งท่องเที่ยว
ภารกิจด้านการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ การแก้กฎหมายลิขสิทธิ์เพื่อระงับ
การละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ตได้ทันท่วงที การช่วยเหลือศิลปินไทยที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ในกัมพูชา การลงนาม MOU กับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก นำระบบระงับข้อพิพาททางเลือกมาใช้ ช่วยยุติปัญหาด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศได้อย่างรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย รวมทั้งการจัดงานทำลายของกลางคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กว่า 4 แสนชิ้น มูลค่าความเสียหาย 173 ล้านบาท เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปี 2566 กรมทรัพย์สินทางปัญญามุ่งมั่นสานต่อความสำเร็จดังกล่าว โดยมีโครงการที่เป็นไฮไลท์สำคัญ ได้แก่ การนำเทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นระบบ AI, Blockchain มาช่วยพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญา และเพิ่มประสิทธิภาพงานบริการประชาชนให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น การส่งเสริม Soft Power ไทย โดยยกระดับอุตสาหกรรมกีฬามวยไทยด้วยทรัพย์สินทางปัญญา และผลักดันอุตสาหกรรมเพลงไทยสู่เวทีต่างประเทศ การส่งเสริม
สินค้า GI ไทย ตั้งเป้าสร้างมูลค่าการตลาดมุ่งสู่ 50,000 ล้านบาท รวมทั้งการรณรงค์และปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มแข็ง โดยมีหมุดหมายสำคัญในการเดินหน้านำพาประเทศไทยให้หลุดจากบัญชี WL
นายวุฒิไกร กล่าวทิ้งท้าย