คัดลอก URL แล้ว
ผู้หญิงทั่วโลก 1 ใน 3 เจอปัญหาความรุนแรงด้านจิตใจมากที่สุด ส่วนใหญ่ไม่ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว

ผู้หญิงทั่วโลก 1 ใน 3 เจอปัญหาความรุนแรงด้านจิตใจมากที่สุด ส่วนใหญ่ไม่ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว

สถานการณ์ความรุนแรงทั่วโลก ปัญหาที่ยังพบมาก คือ “ความรุนแรงในครอบครัว” และ “ความรุนแรงทางเพศ” ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง พบข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ประเทศไทยมีสถิติคดีความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกอย่างต่อเนื่อง และพบ 1 ใน 3 เป็นความรุนแรงทางด้านจิตใจ

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สะท้อนมุมมองว่า ความรุนแรงทางเพศเป็นปัญหาต่อผู้หญิงใหญ่อันดับหนึ่งในสังคมไทยสะท้อนให้เห็นความผิดปกติของสังคม ระบบคุณค่า ความเชื่อ และวัฒนธรรม 3 ด้าน มีส่วนในการหล่อเลี้ยงความรุนแรงทางเพศ โดย “ความรุนแรงทางวัฒนธรรม” เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่จะมองไม่เห็น เพราะเป็นความรุนแรงในระดับละเอียดลึกซึ้ง หยั่งรากลึกที่ระบบความคิดและความเชื่อของคน ส่งผ่านไปยัง “ความรุนแรงทางโครงสร้าง” ที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วางบทบาทความเป็นหญิงให้ด้อยและมีคุณค่าต่ำกว่าบทบาทความเป็นชาย ส่งผ่านไปยัง “ความรุนแรงทางตรง”

ทั้งนี้ ยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ สะท้อนทัศนะผู้ชายที่เชื่ออย่างผิดๆ ว่าเป็นเพศที่มีอำนาจเหนือกว่าและสามารถใช้ออำนาจนั้นกับผู้หญิงโดยเฉพาะในทางเพศได้ หลอมสร้างโดยระบบคุณค่าความเชื่อในสังคมนิยมชาย รวมไปถึงวัฒนธรรมตีตราผู้เสียหาย ด้วยวิธีคิดที่มักโทษผู้เสียหายว่าเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำผิด ตีตราและตั้งคำถามกับผู้หญิงที่ถูกละเมิดทางเพศว่าคือส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา ซึ่งเกิดทุกครั้งในขั้นตอนการไต่สวนและพิจารณาคดี คือ การถูกกระทำรุนแรงซ้ำซ้อน ตลอดจนวัฒนธรรมเงียบ ทั้งการปกปิด /นิ่งเงียบ /เพิกเฉยกับความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้น คือการปิดโอกาสในการให้ความช่วยเหลือต่อผู้ถูกกระทำ วัฒนธรรมตีตราทำให้ผู้หญิงปิดปากตนเองด้วยเมื่อถูกกระทำรุนแรงทางเพศ นับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดย่ามใจจะทำความรุนแรงทางเพศซ้ำซ้อนได้สูงขึ้น

ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ประเทศไทยมีสถิติคดีความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกอย่างต่อเนื่อง และพบ 1 ใน 3 เป็นความรุนแรงทางด้านจิตใจ ขณะที่มีกลุ่มผู้หญิงที่กล้าออกมาเปิดเผยเรื่องราวที่ถูกกระทำรุนแรง และร้องขอความช่วยเหลือจำนวนน้อยมาก ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดทิศทางงานด้านสุขภาพระดับโลก ให้ความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นปัญหาด้านสาธารณสุข และสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ เพราะเป็นปัญหาซับซ้อนหลายมิติ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ ที่ส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัว คนใกล้ชิด หรือคนรู้จัก และยังพบทัศนคติจากคนรอบข้างว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว

จากปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นที่มาให้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี หลังพบว่าความชุกความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 34.6 โดยร้อยละ 82.6 ไม่ไปขอความช่วยเหลือจากบุคคลหรือหน่วยงาน ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า “เป็นเรื่องส่วนตัว” และพบความรุนแรงด้านจิตใจสูงสุด ร้อยละ 32.3 รองลงมาคือ ทางร่างกายร้อยละ 9.9 และทางเพศร้อยละ 4.5 และมีผู้หญิงจำนวนมากไม่กล้าเปิดเผยว่าถูกกระทำความรุนแรง

สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ร่วมสานพลังภาคีเครือข่ายพัฒนาระบบงานสหวิชาชีพ จัดการกรณีปัญหา ความรุนแรงต่อผู้หญิง และความรุนแรงในครอบครัว ที่ครบวงจรและมีประสิทธิภาพ เอื้อให้ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงให้มีโอกาสเข้าถึงกระบวนการจัดการปัญหาที่มีคุณภาพมากขึ้น ผ่านการพัฒนาและเสริมศักยภาพของแกนนำชุมชน และทีมสหวิชาชีพในการคุ้มครองสวัสดิภาพของบุคคลในครอบครัว รวมถึงพัฒนาคู่มือสำหรับชุมชนในการประเมินความเสี่ยงของการเกิดความรุนแรง หลักสูตรการพัฒนาศักยภาพคนทำงานด้านความรุนแรงต่อผู้หญิง หลักสูตรฐานคิดและทักษะการปฏิบัติงานบนฐานความเป็นธรรมทางเพศสำหรับตำรวจหญิง หลักสูตรการปรึกษาในภาวะวิกฤตสำหรับผู้ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว หลักสูตรการปรึกษาเพื่อเยียวยาเด็กที่ถูกใช้ความรุนแรง หลักสูตรความรู้ด้านกฎหมายและการประสานงานสหวิชาชีพระดับจังหวัด และการสื่อสารสังคมเรื่องการ “ไม่เพิกเฉย” ต่อความรุนแรง หรือมองว่าความรุนแรง “เป็นเรื่องของคนอื่น” รวมถึงการเสริมพลังและการปกป้องคุ้มครองตนเองให้รอดพ้นจากความรุนแรงในทุกมิติ โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่มีความเปราะบางเป็นพิเศษ เช่น ผู้หญิงพิการทางการได้ยิน ที่ประสบความยากลำบากในการสื่อสารแจ้งความดำเนินคดี หรือการเข้ากระบวนการรักษาเยียวยาจิตใจ เพื่อก้าวสู่สุขภาวะที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
           
“นโยบายสาธารณะกำหนดชะตาชีวิตผู้หญิงได้ เป็นเป้าหมายที่ สสส. ต้องการให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนตาม Sustainable Development Goals-SDGs ของสหประชาชาติ ข้อ 5.2 ที่ระบุให้การขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัวเป็นเป้าหมายที่ประเทศต่างๆ ต้องให้ความสำคัญและทำให้บรรลุเป้าหมาย จึงอยากเชิญชวนทุกคนมาร่วมงานประชุมวิชาการเสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน ครั้งที่ 2 ในวันที่ 21 – 23 ก.พ. 2566 ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี กรุงเทพฯ สสส. ตั้งใจให้งานนี้เป็นพื้นที่กลางของการส่งเสียงที่ยังแผ่วเบาให้มีพลังมากขึ้น เชิญฟังเสียงสะท้อนแง่มุมต่างๆ เพื่อทำให้ฉุกคิดถึงปัญหาที่เกิดในสังคม และส่งเสียงไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ร่วมกันสนับสนุนและแก้ปัญหาสังคมมิติต่างๆ ที่อาจตกหล่นไป เพื่อเหยื่อที่ถูกกระทำความรุนแรงและสังคมที่ปลอดภัยน่าอยู่ร่วมกัน”