นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม โดยกองเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมได้จัดกิจกรรมการประกวดสื่อสร้างสรรค์ส่งเสริมพัฒนาครอบครัวคุณธรรมและจริยธรรมที่พึงประสงค์ หัวข้อ “เรื่องดี ๆ ที่บ้านฉัน” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยการจัดประกวดครั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสื่อสาร ความเข้าใจอันดีในครอบครัว ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลให้ครอบครัวเป็นสถาบันแรกและสถาบันหลักอย่างแท้จริง ในการกล่อมเกลาคนในสังคมหรือสมาชิกในครอบครัวให้มีคุณธรรม จริยธรรมมีพฤติกรรมและค่านิยมที่ดี เป็นครอบครัวคุณธรรมนำไปสู่ชุมชน สังคมคุณธรรมที่มีความรัก สามัคคี เอื้ออาทร ก่อให้เกิดชุมชน สังคมแห่งความสุข และเป็นการส่งเสริมการผลิตและพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้สื่อได้มีบทบาทในการปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมอันดีงามของคนในสังคม ทั้งนี้เป็นเรื่องน่ายินดีเพราะการจัดประกวดในปีที่ 2 ได้รับความสนใจจากผู้ปกครอง เด็กและเยาวชนให้ความสนใจจำนวนมาก โดยได้ส่งผลงานสื่อสร้างสรรค์ประเภทคลิปสั้น ไม่เกิน 60 วินาที จำนวนทีมละ 2 คน ประกอบด้วยเด็กหรือเยาวชน และผู้ปกครองได้ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดกว่า 189 ผลงาน
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า คณะกรรมการตัดสินการประกวดซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงวุฒิและผู้เชี่ยวชาญได้ดำเนินการพิจารณาตัดสินผลงานสื่อสร้างสรรค์ที่มีการส่งเข้าประกวด โดยคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาผลงานที่สื่อให้เห็นถึงเรื่องราวดี ๆ ในการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมอันดีงามจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อรับรางวัล 5 ผลงาน โดยทุกรางวัลจะได้รับโล่จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและเกียรติบัตรจากกระทรวงวัฒนธรรม เงินรางวัลรวม 120,000 บาท ดังนี้
“สิ่งดี ๆ เริ่มได้จากที่บ้าน” ผลงานจากทีมสื่อสร้างสรรค์เวียงตาลพิทยาคม ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดสื่อสร้างสรรค์ฯ “เรื่องดี ๆ ที่บ้านฉัน” ปีที่ 2
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับหนึ่ง ได้แก่ ผลงาน “ครอบครัวของฉันชอบหาเรื่องดี ๆ เข้าบ้าน” ทีมโพนสวางฟิล์ม
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับสอง ได้แก่ ผลงาน “สุขที่ได้ช่วย” ทีมสื่อสร้างสรรค์โรงเรียนบ้านคอนสา และรางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ผลงาน “เรื่องดี ๆ ที่บ้านฉัน อำเภอเกษตรสมบูรณ์” ทีมครอบครัวตัว ต และผลงาน “ใคร ๆ ก็ใส่งอบ” ทีมที่นี่แหลมงอบ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนใจรับชมผลงานคลิปวีดิโอสื่อสร้างสรรค์ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดครั้งนี้สามารถเข้าไปรับชมได้ทาง YouTube Channel ช่อง Culture Surveillance Bureau”