เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง “ถ้าเลือกตั้งวันนี้ พรรคใดชนะ” กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,114 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 2 – 7 มกราคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา โดยพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม หญิง ร้อยละ 54.8 ชายร้อยละ 45.2 โดยผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 51.4 อายุระหว่าง 25 – 39 ปี ร้อยละ 22.5 อายุไม่เกิน 24 ปี ร้อยละ 20.4 อายุระหว่าง 40 – 59 ปี และร้อยละ 5.7 อายุ 60 ปีขึ้นไป เมื่อถามถึงอาชีพ พบว่า 34.5 เป็นพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 23.2 ค้าขายส่วนตัว อาชีพอิสระ ร้อยละ 15.5 รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 11.4 เกษตรกร ร้อยละ 7.4 นักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 3.8 ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 2.2 เกษียณอายุ และ ร้อยละ 2.0 ว่างงาน เมื่อถามถึงระดับการศึกษา พบว่า ร้อยละ 51.7 ต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 46.4 ปริญญาตรีและร้อยละ 1.9 สูงกว่าปริญญาตรี เมื่อถามถึงรายได้ พบว่า ร้อยละ 51.1 รายได้ระหว่าง 10,001 – 15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 27.2 รายได้ 15,001 – 30,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 16.2 รายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน และร้อยละ 5.5 รายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ เมื่อถามถึงภาคที่มีสิทธิเลือกตั้ง พบว่า ร้อยละ 30.3 เลือกตั้งในภาคอีสาน ร้อยละ 26.9 เลือกตั้งในภาคกลาง ร้อยละ 17.8 เลือกตั้งในภาคเหนือ ร้อยละ 16.2 เลือกตั้งในภาคใต้ และร้อยละ 8.8 เลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร
ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามว่า ถ้าวันนี้เลือกตั้ง จะเลือกพรรคใด พบว่า พรรคการเมืองอันดับแรก ได้แก่ พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 23.4 แต่พรรคที่จี้ติดมาอันดับสองแทบไม่แตกต่างกันคือ พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 21.9 ในขณะที่ อันดับสามได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 9.9 พลังประชารัฐได้ร้อยละ 8.0 ก้าวไกลร้อยละ 5.8 รวมไทยสร้างชาติร้อยละ 4.8 ชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 4.3 ไทยสร้างไทยร้อยละ 3.9 ชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 3.9 สร้างอนาคตไทยร้อยละ 3.5 และอื่น ๆ อาทิ เสรีรวมไทย ไทยภักดี ไม่เลือกใครเลย เป็นต้น ร้อยละ 10.6
ที่น่าพิจารณาคือ แนวโน้มความนิยมของประชาชนต่อพรรคการเมือง ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พบว่า ในเดือนกรกฎาคม ปี 2565 เมื่อปีที่แล้ว พรรคเพื่อไทยได้ร้อยละ 26.9 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 23.4 ในเดือนมกราคม ปี 2566 ในขณะที่ พรรคภูมิใจไทย เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14.2 ในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว มาอยู่ที่ ร้อยละ 21.9 ในเดือนมกราคมปีนี้ นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.8 ในเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้ว มาอยู่ที่ ร้อยละ 9.9 ในเดือนมกราคมปีนี้ อย่างไรก็ตาม พรรคพลังประชารัฐ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจากร้อยละ 22.3 ซึ่งเคยเป็นพรรคอันดับสองลงมาอยู่ที่ร้อยละ 8.0 ในอันดับที่สี่ของการสำรวจครั้งนี้ และพรรคก้าวไกล ลดลงเช่นกันจากร้อยละ 6.9 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.8
ที่น่าจับตามองคือ กลุ่มพรรค “สวิงโหวต” ที่เป็นพรรคเล็กและพรรคเกิดใหม่ เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.4 ขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.8 แต่ถ้ามองว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ แยกมาจากพรรคพลังประชารัฐที่เคยได้ร้อยละ 22.3 ในการสำรวจเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว จะพบว่า คะแนนรวมของทั้งสองพรรคในการสำรวจครั้งนี้เหลือเพียงร้อยละ 12.8 จึงน่าติดตามว่าคะแนนนิยมลดลงและกระจายออกไปที่พรรคการเมืองใดบ้าง โดยในการสำรวจครั้งนี้ พรรคไทยสร้างไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.9 พรรคชาติพัฒนา กล้า เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.3 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.9 พรรคชาติไทยพัฒนา เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.3 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.3 พรรคสร้างอนาคตไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากร้อยละ 1.6 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.5
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพล ถ้าวันนี้เลือกตั้ง พรรคใดชนะ ชี้ให้เห็นว่า พรรคที่เติบโตขึ้นมาเป็นอันดับสองได้แก่พรรคภูมิใจไทยจี้ติดพรรคเพื่อไทยที่ยังคงรักษาอันดับหนึ่งไว้อยู่แต่ไม่ได้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในขณะที่พรรคการเมืองอันดับสามได้แก่พรรคประชาธิปัตย์ โดยที่น่าพิจารณาคือ พรรคพลังประชารัฐตกลงไปอยู่อันดับที่สี่และแม้คะแนนนิยมรวมกับพรรครวมไทยสร้างชาติแล้วคะแนนนิยมโดยรวมก็ลดลงจากเดิมอย่างมาก แต่พรรคที่น่าจับตามองคือพรรค “สวิงโหวต” โดยสมมติฐานเป็นกลุ่มที่อาจเปลี่ยนใจได้จำนวนมากมาจากกลุ่มที่อยู่กลาง ๆ ส่วนหนึ่งปันใจไปให้พรรคเกิดใหม่ เช่น พรรคไทยสร้างไทย พรรคสร้างอนาคตไทย พรรคชาติพัฒนา กล้า ที่รวมตัวกัน และอื่น ๆ ตามลำดับ ถ้าพรรคการเมืองใหม่ รวมตัวกันได้ก็จะมีอำนาจต่อรองการเมืองสูงไม่น้อยและถ้าเสนอนโยบายที่โดนใจประชาชนย่อมจะเพิ่มแต้มต่อได้มากยิ่งขึ้น.