“สุชาติ” รองประธานสภาฯ ฝาก ส.ส.ถาม รมว.พลังงาน แจงเหตุการไฟฟ้าฯเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มภาระ ปชช. “มานพ” โวยเก็บเพิ่มบิลละ 38.22 บาท รวมทั้งประเทศ 1,911 ล้านบ. ไม่เป็นธรรม จี้หาทางจัดการไม่ให้เก็บ “สุพัฒนพงษ์” โบ้ย กกพ.ดูแล ยันตัวเลขเหมาะสมแล้ว
วันนี้ (5 ม.ค.66) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระการพิจารณากระทู้ถามทั่วไปของ นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามทั่วไป เรื่องค่าไฟฟ้าราคาแพง และการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการพังงารไฟฟ้าของประเทศ ถาม นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน
โดยก่อนเข้าสู่วาระดังกล่าว นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้กล่าวฝาก นายมานพ เจ้าของกระทู้ว่า ช่วงปรึกษาหารือก่อนเปิดการประชุมสภาฯวันนี้นั้น มี ส.ส.ได้หารือปัญหาเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าจากประชาชน โดยมีค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ไม่ได้เกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้า เช่น ค่าพิมพ์บิล ค่ารักษามิเตอร์ และค่าจัดส่งเอกสาร ซึ่งถือเป็นการเพิ่มภาระของประชาชน จึงอยากฝากให้นายมานพสอบถาม รมว.พลังงาน ในคราวเดียวกันด้วย
จากนั้น นายมานพ ก็ได้ตั้งคำถามถึงการเรียกเก็บค่าบริการรายเดือนของการไฟฟ้าฯที่เป็นภาระต่อประชาชนเกินควร อาทิ ค่าพิมพ์บิล ค่ารักษามิเตอร์ และค่าจัดส่งเอกสาร ที่มีการระบุในบิลค่าไฟฟ้า จำนวน 38.22 บาท ทั้งที่ประชาชนได้จ่ายค่ามิเตอร์ไปแล้ว ส่วนค่าพิมพ์และค่าจัดส่งเอกสารนั้นก็ไม่ควรมาเก็บจากประชาชน ซึ่งรวมแล้วประชาชนต้องจ่ายในส่วนนี้รวมกันถึง 1,911 ล้านบาท
“ค่าบริการรายเดือนที่ประชาชนต้องรับภาระมากขึ้นมีที่มาที่ไปอย่างไร จะจัดการไม่ให้มีได้อย่างไร เพราะไม่มีความเหมาะสม ไม่มีความเป็นธรรมกับประชาชน และเป็นการเก็บค่าบริการเกินควร เป็นภาระของพี่น้องประชาชน” นายมานพ ตั้งคำถาม
ด้าน นายสุพัฒนพงษ์ ชี้แจงว่า ค่าบริการรายเดือนเป็นการพิจารณาโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ดูเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบริการ และคำนวณจากปริมาณการใช้ไฟ นอกจากนี้ ในส่วนของมิเตอร์จะต้องมีการบำรุงรักษาดูแล ถ้ามิเตอร์เสีย การจ่ายไฟจะได้รับผลกระทบ จึงต้องมีการบำรุงรักษา เพื่อไม่ให้มิเตอร์เสื่อมสภาพเร็ว ซึ่งส่วนนี้มีค่าใช้จ่ายจึงมอบหมายให้ กกพ.ไปตรวจสอบว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งได้รับการยืนยันว่า เป็นตัวเลขที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม เมื่อท่านสอบถามมาตนจะสอบถามให้อีกครั้ง และอาจให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เชิญ กกพ. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาชี้แจง เพราะมีหน้าที่ดูแลอัตราค่าบริการที่เหมาะสม.\