“ชุมชนหัวฝาย” ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ เป็นชุมชนที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง โดยมีทั้งหมด 449 ครัวเรือน เป็นคนพื้นถิ่นและคนต่างถิ่น ซึ่งในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา พบปัญหาเรื่องการเข้าระบบบริการทางสุขภาพ และเรื่องของการกักตัวเมื่อพบผู้ป่วย แม้สถานการณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ความร่วมแรงร่วมใจของทุกคนในชุมชนและภาคีเครือเครือข่าย จนเกิดเป็น “ระบบคัดกรองและเฝ้าระวังชุมชน HI รวมหมู่” ที่เป็นระบบคัดกรองสำหรับผู้ติดเชื้อ พร้อมเพิ่มกระบวนการส่งต่อไปยังสถานบริการทางการแพทย์อย่างมีคุณภาพ
นางลำดวน มาทิพย์ ประธาน อสม. ชุมชนหัวฝาย กล่าวถึงที่มาของโครงการ HI รวมหมู่ ว่า ในช่วงที่พบคนในชุมชนเริ่มติดเชื้อไวรัสโควิด -19 มากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาทั้งเรื่องการกักตัว การรักษาและการดูแล ซึ่งจากการได้เข้าร่วมโครงการการพัฒนารูปแบบและแนวทางการทำงานเพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนในการสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ กรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำให้เกิดเป็นนวัตกรรม HI รวมหมู่ ขึ้นมา แต่ผลตอบรับจากคนในชุมชนช่วงแรกไม่ดีมากนัก เนื่องจากทุกคนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องโควิด-19 อย่างดีพอ จึงเกิดความกลัว ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วประเทศก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่จากการสนับสนุนของคณะทำงานโครงการและทีมแพทย์จากโรงพยาบาลเชียงใหม่เมดิคอลเซ็นเตอร์และโรงพยาบาลเซ็นทรัลเชียงใหม่เมโมเรียล ที่มาพูดคุยและสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ทำให้เริ่มต้นการดำเนินงาน HI รวมหมู่ขึ้นมาได้
“สสส. สนับสนุนทั้งองค์ความรู้และงบประมาณในการทำ HI รวมหมู่ และยังได้รับการสนับสนุนด้านอาหาร และเรื่องความเป็นอยู่จากองค์กรภาคประชาสังคมและภาครัฐ จนทำให้ HI รวมหมู่ขึ้นมาได้” นางลำดวน กล่าว
ด้าน นางพิมพ์วลัญช์ สุริยา อสม. ชุมชนหัวฝาย กล่าวถึงกระบวนการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า เป็นการรับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวที่โรงพยาบาลให้กลับมากักตัวที่บ้านพัก ซึ่งหากเป็นการดูแลกันเองภายในครอบครัวก็จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก และอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงขึ้น ดังนั้น HI รวมหมู่จึงเป็นสถานที่ในการดูแลผู้ป่วยที่มาอยู่รวมกันแบบเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน มีความช่วยเหลือในทุกด้าน และกำหนดกฎระเบียบขึ้นมาด้วย ตั้งแต่ ห้ามสูบบุหรี่ภายในพื้นที่ การจัดการขยะ ต้องแยกขยะทั่วไปกับขยะติดเชื้อ รวมถึงของใช้ในชีวิตประจำวัน การซักผ้าต้องแยกจากกันจากคนอื่น ๆ โดยผู้ป่วยทุกคนจะต้องช่วยกันทำความสะอาดอยู่เป็นประจำ ซึ่งในช่วงเย็นของทุกวัน อสม. จะนำขยะไปทิ้งพร้อมนำน้ำยาฆ่าเชื้อมาเช็ดถูบริเวณต่าง ๆ พร้อมติดตามอาการของผู้ติดเชื้ออย่างสม่ำเสมอเพื่อประเมินเบื้องต้นว่ามีอาการเพิ่มขึ้นจนต้องโรงพยาบาลหรือไม่
นางพิมพ์วลัญช์ กล่าวด้วยว่า การทำ HI รวมหมู่ ทำให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในชุมชนมากขึ้น สะท้อนได้จากเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น ได้เห็นการรับประทานอาหารร่วมกันของกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อ แม้ว่าจะมาจากกันคนละครอบครัว การส่งต่อข้อมูลภายในชุนชน หากใครอาการไม่ดีก็จะโทรศัพท์แจ้งมายัง อสม. หรือโรงพยาบาลให้ส่งต่อการดูแลผู้ป่วย หรือการช่วยกันวัดออกซิเจนจากปลายนิ้วของผู้ป่วยด้วยกัน เช่นเดียวกับ อสม. ทุกคนที่ไม่เกี่ยงงาน พร้อมดูแลผู้ป่วยอย่างเท่าเทียมกัน แม้ในช่วงแรกเสียงตอบรับในชุมชนอาจจะไม่ได้เป็นไปในทางบวก แต่จากการทำงาน HI รวมหมู่ ทำให้คนในชุมชนยอมรับ ให้ความร่วมมือมากขึ้น ลดความกังวลเรื่องการแพร่เชื้อภายในชุมชนจากการดูแลกันเองเป็นอย่างดี ลดความกังวลของผู้ปกครองกรณีเป็นผู้ป่วยเด็กที่ไม่ต้องไปรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือสถานที่ต่างถิ่น การดูแลเอาใจใส่ทุกด้านอย่างครบวงจร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้การทำงานผ่านไปอย่างราบรื่น
“สสส. ได้เข้ามาดูแลและสนับสนุนการทำ HI รวมหมู่ของชุมชนอย่างต่อเนื่อง และกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ชุมชนได้ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับ สสส. มาโดยตลอด ถือเป็นการทำงานด้วยใจอย่างแท้จริง” นางพิมพ์วลัญช์ กล่าวย้ำ
ด้านนายปรีชา ทาสุวรรณ อสม. และประธานชุมชนหัวฝาย กล่าวถึงการสร้างความเข้าใจของการทำ HI รวมหมู่ว่า เริ่มจากการประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย เพื่อรายงานความรุนแรงของสถานการณ์โควิด-19 ให้ความรู้กับคนในชุมชน พร้อมชี้แจงว่าในช่วงเวลาดังกล่าว โรงพยาบาลในพื้นที่ไม่สามารถรับผู้ป่วยเข้าไปรักษาได้ เพราะเตียงเต็ม จึงจำเป็นต้องทำ HI รวมหมู่ เพื่อให้มีที่พักพิงสำหรับผู้ที่ติดเชื้อ ไม่ให้เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายไปในชุมชน ไม่แพร่ไปสู่ครอบครัวผู้ติดเชื้อ ซึ่งก่อนที่จะทำการรักษาผู้ป่วยใน HI รวมหมู่นั้นก็ได้ให้ อสม. ศึกษาหาความรู้เรื่องโควิด-19 จากสื่อประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ ของโรงพยาบาล และได้รับการอบรมจากโครงการของ สสส. หลายครั้ง รวมถึงลงพื้นที่ตัวอย่างในจังหวัดลำปาง และโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยับยั้งไม่ให้การระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่รุนแรงมากขึ้น พร้อมระบุว่า นอกจากมาตรการ HI รวมหมู่แล้ว ยังได้ช่วยกันตรวจสอบการสวมใส่หน้ากากอนามัยภายในชุมชนว่าใส่หน้ากากอนามัยกันหรือไม่ หากพบว่าไม่ได้ใส่ก็จะตักเตือนและให้ความรู้ ถึงแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในขณะนี้จะเริ่มดีขึ้นบ้าง แต่ก็ยังต้องให้ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อเดินทางไปในสถานที่ชุมชน ห้างร้านต่างๆ เพื่อเป็นการป้องกันตนเองที่ดีที่สุด
ขณะที่ นางสาวพัชรีพรรณ ระหว่างบ้าน ผู้ประสานงานโครงการการพัฒนารูปแบบและแนวทางการทำงานเพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชน ในการสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ กรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 พื้นที่เชียงใหม่ กล่าวถึงการส่งต่อผู้ป่วยภายในชุมชนว่า เบื้องต้นจะประสานงานโดยตรงกับ อสม. เพื่อคัดกรองว่า ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงในระดับใด จากนั้นจะตรวจสอบสิทธิของผู้ป่วย พร้อมส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ทำการวินิจฉัยว่า อาการอยู่ในกลุ่มสีเขียว สีเหลือง หรือสีแดง หากเป็นผู้ป่วยสีเขียว ก็จะต้องสอบถามผู้ป่วยตามความสมัครใจว่าต้องการกักตัวที่บ้านหรือจะมากักตัวที่ HI รวมหมู่ของชุมชนหัวฝาย โดยจะมีกลุ่ม อสม. และผู้ป่วยที่อาศัยใน HI รวมหมู่ ช่วยกันวัดค่าออกชิเจนจากปลายนิ้วและส่งให้กับโรงพยาบาล
นางสาวพัชรีพรรณ ระบุว่า ถึงแม้ในพื้นที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ไม่มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ให้การดูแลสุขภาพปฐมภูมิเบื้องต้น แต่จะมีโรงพยาบาล 6 แห่ง ทั้งโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลของรัฐ ที่มีความใกล้ชิดกับชุมชน เช่นชุมชนหัวฝาย มีโรงพยาบาลเชียงใหม่ เมดิคอลเซ็นเตอร์ ที่ดูแลประชากรประมาณ ร้อยละ 20 และโรงพยาบาลเซ็นทรัลเชียงใหม่เมโมเรียล ที่ดูแลประชากรร้อยละ 80 ของชุมชน เพราะรับดูแลสิทธิ์ของผู้ป่วย 30 บาทรักษาทุกโรค พร้อมประสานงานให้ความรู้แก่ อสม. อย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน เทศบาลนครเชียงใหม่ ยังเป็นผู้ดูแลสุขภาวะภายในชุมชนให้อีกด้านหนึ่งด้วย ซึ่ง อสม. ถือเป็นกลไกสำคัญในการดูแลภายในชุมชน เพราะสามารถเข้าถึงได้เร็ว เป็นแบบอย่างด้านสุขภาวะภายในชุมชนด้วยกันเอง ทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนที่ช่วยให้คนในชุมชนเห็นและตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพและเชื้อโควิด – 19 มากขึ้น
“นอกจากการดูแลแบบ HI รวมหมู่แล้ว ชาวบ้านในชุมชน ยังช่วยเหลือดูแลผู้ติดเชื้อ แม้ว่าจะไม่ใช่คนในครอบครัวที่ติดเชื้อก็ตาม จึงเรียกได้ว่า HI รวมหมู่ คือการเฝ้าระวัง คัดกรองโดยประชาชนชั้นหนึ่ง ก่อนที่จะมาถึง อสม. และส่งต่อไปยังหน่วยบริการสุขภาพ” นางสาวพัชรี พรรณ กล่าวทิ้งท้าย