KEY :
- หลังจากที่เมื่อช่วงสายวานนี้ (26 ธ.ค.) โดรนของเกาหลีเหนือได้รุกล้ำน่านฟ้าของเกาหลีใต้จำนวน 5 ลำ
- โดยสามารถใช้เวลาบินอยู่ในน่านฟ้าของเกาหลีใต้ได้นานหลายชั่วโมง และมีหนึ่งลำที่สามารถบินกลับไปยังเกาหลีเหนือได้
- ส่งผลให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความพร้อมรบ และสกัดกั้นของกองทัพเกาหลีใต้ ต่อโดรนเกาหลีเหนือ
- ด้านกองทัพเกาหลีใต้ระบุ เนื่องจากโดรนมีขนาดเล็ก ตรวจจับได้ยาก รวมถึงหากยิงทำลาย ก็เสี่ยงให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน และอันตรายกับประชาชน
- โดยกองทัพได้ขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจะยกระดับการป้องกันให้มากยิ่งขึ้น
…
ทางการเกาหลีใต้รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ช่วงเวลาตั้งแต่ 10.25 น. (ตามเวลาเกาหลีใต้) ตรวจพบว่า โดรนของเกาหลีเหนือ จำนวน 5 ลำ ได้ลุกล้ำน่านฟ้าของเกาหลีใต้
โดย โดรนของเกาหลีเหนือจำนวน 4 ลำได้ลุกล้ำน่านฟ้า บริเวณเกาะคังฮวา เป็นเวลา 5 ชั่วโมง ก่อนที่จะหายไปจากจอเรด้าห์ ในขณะที่อีกหนึ่งลำ ได้บินผ่านลุกล้ำพื้นที่เขตชุมชนในเขตที่มีประชาชนอาศัยอยู่ในเมืองปาจู จ.คยองกี ทางตอนเหนือของกรุงโซล ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงก่อนบินกลับไปยังเกาหลีเหนือได้สำเร็จ
ซึ่งในภายหลังจากการตรวจพบ กองทัพเกาหลีใต้ได้ออกประกาศแจ้งเตือนไปยังเกาหลีเหนือ รวมถึงการยิงเตือน ก่อนที่จะมีการส่งเครื่องบินรบ และเฮลิคอปเตอร์จู่โจม ขึ้นไปสกัดกั้นโดรนเกาหลีเหนือ
สำหรับการยิงเตือนไปยังโดรนของเกาหลีเหนือนั่น ทางการเกาหลีใต้ระบุว่า โดรนของเกาหลีเหนือมีขนาดราว 2 เมตร และมีสีน้ำเงินอ่อน ๆ ซึ่งทำให้นักบินเล็งไปยังโดรนดังกล่าวได้ยาก และทำให้การสกัดกั้นทำได้ล่าช้า
นอกจากนี้ โดรนเกาหลีเหนือที่บินลุกล้ำมายังบริเวณพื้นที่ในเขตที่มีประชาชนอาศัยอยู่ ทำให้การสกัดกั้นทำได้ยาก เนื่องจากหากมีการยิงโดรนลำดังกล่าว อาจจะก่อให้เกิดอันตรายกับประชาชน ส่งผลให้มีโดรนลำหนึ่งสามารถบินกลับไปยังเกาหลีเหนือได้
ทางการเกาหลีใต้คาดว่า สามารถถ่ายภาพบริเวณโดนรอบของสำนักงานของประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ได้
…
เกิดคำถาม “การสกัดกั้น” โดรนเกาหลีเหนือ
ทำให้เกิดข้อสงสัยและคำถามต่อกองทัพเกาหลีใต้ ในเรื่องของความสามารถในการสกัดกั้นอากาศยานของเกาหลีเหนือ ที่ยังคงไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งควรจะสามารถสกัดกั้นอากาศยาน ขีปนาวุธ รวมถึงโดรนของเกาหลีเหนือได้
โดยมีรายงานระบุว่า การตรวจจับโดรนของเกาหลีเหนือนั้น ไม่ได้ถูกติดตามอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการตรวจพบเห็นเป็นระยะบนจอเรด้าห์ ซึ่งเมื่อปี 2019 เกาหลีใต้ได้มีการติดตั้ง SSR เพื่อใช้ในการตรวจจับโดรน รวมถึงการตรวจจับเคลื่อนความถี่ด้วย แต่เหตุการณ์ที่โดรนเกาหลีเหนือรุกล้ำน่านฟ้าในครั้งนี้ ได้มีการใช้ระบบนี้หรือไม่
ภายหลังจากมีการแจ้งเตือนภัยระดับ 2 ได้มีการส่งอากาศยานราว 20 ลำ ทั้งเครื่องบินขับไล่ F-15K, KF-16, KA-1 รวมถึงเฮลิคอปเตอร์จู่โจมอย่าง Apache และ Cobra ทำให้หลายฝ่ายสงสัยถึงมาตรการตอบโต้ ที่มีการจัดส่งเครื่องบินขับไล่อย่าง F-15K ขึ้นสกัดกั้น เนื่องจากเครื่องบินขับไล่นั้น มีความเร็วกว่า โดรนของเกาหลีเหนืออย่างมาก ทำให้การเข้าสกัดกั้นนั้นเป็นไปได้ยาก และผลการสกัดกั้น ทำลาย ก็เกิดขึ้นจากการยิงด้วยเฮลิคอปเตอร์เพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นนั้น แม้ว่า ทางกองทัพเกาหลีใต้จะสามารถยิงโจมตีโดรนของเกาหลีเหนือได้ แต่ก็ยังคงมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การดำเนินการที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งแม้ว่า กองทัพจะไม่ได้มีการใช้ปืนต่อสู้อากาศยานในการยิงทำลายโดรนเกาหลีเหนือ โดยระบุว่า เป็นเรื่องของความปลอดภัยของพลเรือน แต่ทำไมไม่ได้มีการใช้อุปกรณ์สำหรับกวนสัญญาณโดรนของเกาหลีเหนือแทน
โดยที่ผ่านมา ทางการเกาหลีใต้คาดว่า เกาหลีเหนืออาจจะมีโดรนอยู่ในครอบครองราว 1 พันลำ เพื่อชดเชยความเสียเปรียบด้านกองกำลังทางอากาศที่ด้อยกว่าเกาหลีใต้
…
กองทัพเกาหลีใต้ยอมรับ “ล้มเหลว”
ด้านกองทัพเกาหลีใต้ ได้ออกมายอมรับและขอโทษต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า เสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากเหตุการณ์ที่โดรนของเกาหลีเหนือได้รุกล้ำน่านฟ้าของประเทศ และไม่สามารถยิงทำลายเป้าหมายได้
ทางกองทัพเกาหลีใต้ได้ระบุถึงสาเหตุในครั้งนี้ว่า แม้ว่า เนื่องจากอากาศยานไร้คนขับของเกาหลีเหนือมีขนาดเล็กกว่า 3 เมตร จึงเป็นข้อจำกัดในการตรวจจับ รวมถึงการตอบโต้ต่อภัยคุกคามที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ การทำลายอากาศยานไร้คนขับของเกาหลีเหนือบนอากาศนั้น มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและประชาชนชาวเกาหลีใต้
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะมีการปรับปรุงมาตรการในการตรวจจับ และเพิ่มความสามารถในการป้องกันทางอากาศให้มากขึ้น