คัดลอก URL แล้ว
กางหมุดหมาย”ตลาดต้องชม”กรมการค้าภายในกลับบ้านปีใหม่2566 ไปเที่ยวตลาดไหนดี…?

กางหมุดหมาย”ตลาดต้องชม”กรมการค้าภายใน
กลับบ้านปีใหม่2566 ไปเที่ยวตลาดไหนดี…?

“ปีใหม่นี้ไปเที่ยวไหนดี..? เชื่อว่าเป็นคำถามที่หลายคนคิดอยู่ในใจว่าช่วงหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ปีนี้(2566 )จะวางแผนไปท่องเที่ยวไหนกัน หลายคนอาจกลับบ้านต่างจังหวัด ไปหาพ่อแม่ ผู้เฒ่าผู้แก่ ขอพรปีใหม่ จากญาติผู้ใหญ่ สังสรรค์รวมญาติตามธรรมเนียม ขณะจำนวนไม่น้อยอยากเดินทางไปท่องเที่ยว พักผ่อนในช่วงวันหยุดยาว หลังกรากกรำงานมาทั้งปี

คำถามนี้มีคำตอบ เมื่อ”วัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม” อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ชวนเที่ยวปีใหม่ ชวนไทยเที่ยวไทย ช้อปผลิตภัณฑ์ สินค้าฝีมือคนไทย เพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชนผ่านโครงการ”ตลาดต้องชม”

เป็นตลาดที่มีทั้ง”เอกลักษณ์พาณิชย์”และ”อัตลักษณ์ชุมชน” เป็นแหล่งรวมผลิตภัณฑ์ชุมชนเด่น สินค้าพื้นเมืองเด่น มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย จำหนายในราคาที่เป็นธรรม เป็นแหล่งรวม ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีพื้นบ้าน ที่สะท้อนความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว มีกลิ่นอายท้องถิ่นที่ชัดเจนบ่งบอกถึงที่มาของชุมชนนั้น ๆ เป็นอย่างดี

“ตลาดไหนที่พอมีศักยภาพก็อยากให้ช่วยเจียระไนให้เป็นที่ขายสินค้าพื้นเมือง โอท๊อป เป็นตลาดท่องเที่ยวให้กับชาวไทยและต่างชาติ เพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับคนไทยทั้งประเทศในเรื่องของเศรษฐกิจฐานราก” จุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เคยให้สัมภาษณ์ถึงตลาดต้องชม เมื่อครั้งลงพื้นที่ตรวจตลาดพ่อตาหินช้าง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ปลายเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา

“ตลาดต้องชม” จึงเป็นนโยบายส่งเสริมการตลาดในประเทศที่สำคัญของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในการขับเคลื่อนเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจระดับฐานราก จากจุดเริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2559 จนถึงวันนี้มีการขยายจำนวนตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมีอยู่ในทุกมุมเมือง ทุกจังหวัดทั่วไทย จำนวนมากถึง 238 แห่งที่เป็นหมุดหมายสำคัญรองรับนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปไปสัมผัส

จากทั้งหมด 238 แห่งทั่วไทย กรมการค้าภายในคัดเลือกมา 180 แห่งที่มีศักยภาพ พร้อมจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 8 มกราคม 2566 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ประชาชนทั่วที่ที่เดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว พร้อมกิจกรรมกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยมากมาย ได้แก่ ภาคเหนือ 41 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 44 แห่ง ภาคกลาง 61 แห่ง ภาคใต้ 28 แห่งและกรุงเทพฯ 6 แห่ง

เริ่มต้นด้วยตลาดในเมืองหลวง กรุงเทพมหานครสำหรับผู้คนที่ไม่ชอบเดินทางไกล มีตลาดต้องชมให้เดินเที่ยว 6 แห่งน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น ตลาดพลู ถิ่นขนมช่ายเจ้าดัง,ตลาดคลองบางหลวง,ตลาดนางเลิ้ง, ตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน, ตลาดคลองลัดมะยมและตลาดน้ำวัดพระยาสุเรนท์ โดยแต่ละตลาดจะมีไฮไลท์สำคัญและมีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป

ขยับจากกรุงเทพฯออกมาหน่อยจะเป็นตลาดต้องชมใกล้กรุง ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดแถบปริมณฑล อาทิ ตลาดน้ำไทรน้อย จ.นนทบุรี ตลาดน้ำลำพญา จ.นครปฐม ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง จ.สมุทรปราการหรือ ตลาดริมคลองพ่อพันท้ายนรสิงห์ จ.สมุทรสาคร

ส่วนใครเดินทางไกลกลับบ้านหรือท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาวปีใหม่ ไม่ว่าจะแอ่วเหนือ ล่องใต้หรือท่องอีสานผ่านจังหวัดต่าง ๆ ยังมีตลาดต้องชมให้แวะชิม ชม ช้อป ไว้ตลอดเส้นทาง เริ่มกันที่เส้นทางขึ้นเหนือ ถ.พหลโยธิน จากกรุงเทพฯผ่านจ.พระนครศรีอยุธยา แวะ”ตลาดวัดหลวงปู่ทวด” ไหว้สักการะรูปปั้นหลวงปู่ทวดเพื่อเป็นสิริมงคล ผ่านจ.อ่างทองต้องแวะ”ตลาดศาลเจ้าโรงทอง” อ.วิเศษไชยชาญ ดูศาลเจ้าอิงศิลปะจีนที่งดงามเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน

จากนั้นเข้าสู่จ.สิงห์บุรี มีของดีผลิตภัณฑ์ปลาช่อนแม่ลาและสินค้าโอท็อปขึ้นชื่อที่”ตลาดชุมชนบ้านพิกุลทอง” ก่อนสู่เมืองปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์แวะพักรับประทานอาหารที่”ตลาดท่าเรือคลองคาง” ตลาดแห่งนี้มีอาหารและขนมอร่อยหลายอย่าง เช่น ขนมครกไส้แตก หมึกย่างท่าเรือ ไอศกรีมโอ่ง ฯลฯ

จากปากน้ำโพนครสวรรค์มุ่งหน้าสู่”ตลาดเก่าวังกรด” ตลาดสดริมแม่น้ำน่าน จ.พิจิตร เป็นชุมชนสำคัญทางประวัติศาสตร์ ภายในมีนิทรรศการและการจัดแสดงของใช้โบราณเพื่อสะท้อนความเป็นมาของตลาดและวิถีชุมชนแห่งนี้ ขึ้นเหนือไปไม่ไกลจะเป็น”ตลาด 120 ปีวิถีชาววัง” แหล่งสินค้าโอท็อปแปรรูปจากกล้วยและขนมเปี๊ยะรสเลิศของเมืองสองแควจ.พิษณุโลก

จากสองแควสู่เมืองแพร่ต้องแวะที่”กาดเมกฮิม”คือ เป็นตลาดที่ตั้งอยู่ในชมุชนริมน้ำบริเวณรอบคูเมืองมีกำแพงเก่าแก่มากกว่า 1,000 ปีและเป็นที่ประดิษฐ์สถานพระพุทธรูปน้ำออกเศียร ซึ่งมีเพียง 3 รูปในประเทศไทย ก่อนเดินทางสู่เมืองน่านสัมผัสวิถีคนน่านผ่าน”กาดข่วงเมืองน่าน”บริเวณถนนคนเดินวัดภูมินทร์ เป็นตลาดที่มีกลิ่นอายล้านนา มีสินค้าเด่น เช่น ผ้าทอลายโบราณและเครื่องเงิน
ลงจากดอยเมืองน่านผ่านมาทางเชียงใหม่แวะ”ตลาดจริงใจ” อาหารปลอดภัยในตัวเมือง เน้นพืชผักอินทรีย์ผลิตจากยอดดอยสู่ผู้บริโภคคนเมือง

จากเหนือมาสู่อีสานใครผ่านจ.ขอนแก่นต้องไม่พลาด”ตลาดริมทางไก่ย่างเขาสวนกลาง” เมนูดังแห่งเมืองแก่นนคร ส่วนใครนิยมชมชอบผ้าทอมือต้องไม่พลาด”ตลาดผ้าบ้านนาข่า” แหล่งรวมผ้าทอมือหลากหลายของจ.อุดรธานีแล้วมาปักหมุดที่”ตลาดถนนคนเดินวีถีคนเชียงคาน” จ.เลย ว่ากันว่ามาเชียงคานทั้งทีต้องพักค้างคืนบ้านไม้เก่าริมโขงชีวิตจะได้ฟิน

จากอีสานเหนือมาสู่อีสานใต้ พลาดไม่ได้”ตลาดคนเดินเซราะกราว” จ.บุรีรัมย์ แหล่งผลิตและจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านเด่นของจังหวัด แต่ถ้าใครชอบผ้าไหมต้นตำรับต้องมาที่”ตลาดผ้าไหมบ้านท่าสว่าง” จ.สุรินทร์ หมู่บ้านเก่าแก่และได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านโอท็อป(OTOP)เพื่อการท่องเที่ยวเชิงหัตถกรรมผ้าไหมแห่งเดียวของประเทศ
จากสุรินทร์มุ่งหน้าตามหาแสงแรกแห่งวันที่จ.อุบลราชธานี แล้วมาเดินลัดเลาะริมโขงที่”ตลาดถนนคนเดินเขมราษฎร์ธานี” ที่สะท้อนวิถีชีวิตคนริมฝั่งโขง แล้วมากราบสักการะพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ พระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นศรัทธาเลื่อมใสของคนสองฝั่งโขง

จากอีสานล่องใต้พลาดไม่ได้”ตลาดพ่อตาหินช้าง” จ.ชุมพร แหล่งแปรูปผลิตภัณฑ์กล้วยเล็บมือนางขึ้นชื่อติดไม้ติดมือกลับบ้าน หากผ่านพังงาจะต้องแวะ”ถนนวัฒนธรรมตลาดเก่าตะกั่วป่า” แหล่งผลิตแร่ดีบุกยุครุ่งเรืองในอดีต ยังคงหลงเหลือบ้านพักอาศัยสไตล์ชิโนโปรตุเกสให้ได้เห็น และวัฒนธรรมการแต่งกายของลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนในแบบฉบับของชาวเมืองตะกั่วป่า

เลียบฝั่งอันดามันจากพังงามาสู่จ.ภูเก็ตที่”ถนนคนเดินหลาดใหญ่”ตลาดนัดสุดเก๋ย่านตลาดเก่าภูเก็ต ชมพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว โรงเรียนสอนภาษาจีนแห่งแรกของจ.ภูเก็ต ลงมาทางกระบี่ ตรัง ผ่านมายังพัทลุงห้ามพลาด”ตลาดใต้โหนด”ตลาดที่มีอัตลักษณ์ด้านชุมชนสีเขียว สินค้าสีเขียว ข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่างจะต้องผลิตจากธรรมชาติ ยิ่งไปกว่านั้นพ่อแม่ขายจะไม่มีถุงพลาสติกไว้บริการ ลูกค้าจะต้องนำถุงผ้าหรือภาชนะใส่สินค้าไปเอง

จากพัทลุงมาสงขลาจะต้องแวะ”ตลาดน้ำคลองแห” ตลาดน้ำชื่อดังที่จำลองวิถีดั้งเดิมการทำมาค้าขายทางน้ำของชาวบ้านคลองแหในอดีต มีขนมพื้นเมืองและอาหารปักษ์ใต้หลากหลายไว้บริการ ด้วยภาชนะใส่อาหารด้วยวัสดุจากธรรมชาติ ปัจจุบันเป็นตลาดน้ำเชิงวัฒนธรรมของชาวเมืองสงขลา

จากจ.สงขลาลงมายัง 3 จังหวัดชายแดนใต้สุดปลายด้ามขวานที่จ.ยะลา”ตลาดนัดชุมชนบ้านคลองทรายใน”ริมถนนสาย418 ยะลา-ปัตตานี ทางผ่านเสมือนจุดพักรถที่มีหลักกิโลเมตรใหญ่ที่สุดของจังหวัดตั้งเด่นเป็นสง่า มีผลิตภัณฑ์เด่นเป็นที่รู้จักในนาม”ไก่กอและ”

และสุดท้ายปลายทางที่”ตลาดยะกัง ขนม100ปี” จ.นราธิวาส กับตำนานความอร่อยขนมโบราณที่ขอบอกคำเดียวว่าเด็ด เต็มไปด้วยขนมพื้นบ้านสูตรโบราณหายากมากมาย อาทิ ขนมบาตาบูโระ ขนมปูตูฮาลือบอ ขนมจูโจ ขนมเจ๊ะแมะ นาซิดาแฆ นาซิกายอ เป็นต้น

นี่เป็นส่วนหนึ่ง”ตลาดต้องชม”จากทั้งหมด 180 แห่งทั่วไทยที่เปิดตลาดรับวันหยุดยาวช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ระหว่าง 24 ธ.ค.65 ถึง 8 ม.ค.66 นี้ โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เชิญชวนทุกคนได้ไปสัมผัส!

ผู้สนใจสามารถติตดามรายละเอียดกิจกรรมของตลาดได้ที่เว็บไซต์: : www.dit.go.th Line Official “DIT GO” และ Facebook “กรมการค้าภายใน DIT”