คัดลอก URL แล้ว
องค์กรผู้บริโภคและเครือข่าย จี้ รมว.พลังงาน แก้ปัญหาค่าไฟแพง

องค์กรผู้บริโภคและเครือข่าย จี้ รมว.พลังงาน แก้ปัญหาค่าไฟแพง

KEY :

วันนี้ (22 ธ.ค. 65) สภาองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมกับเครือข่ายไฟฟ้า ประปา ยา และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. นัดรวมตัวหน้ากระทรวงพลังงาน เพื่อยื่นหนังสือต่อ รมว.พลังงาน เร่งแก้ปัญหาค่าไฟแพง

นางสาวรสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า ขณะนี้ประชาชน ภาคธุรกิจทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ รวมถึงภาคเกษตรกรรมต่างได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาค่าไฟฟ้าแพงอย่างถ้วนทั่วทุกภาคส่วน โดยจะต้องรับภาระค่าไฟฟ้าในอัตรา 4 – 6 บาทต่อหน่วยทั้งทางตรงและทางอ้อม

ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้นเป็นเพียงปัจจัยปลายเหตุเท่านั้น และการแก้ไขปัญหาดูแลค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟภาคที่อยู่อาศัยเพียงบางกลุ่มด้วยเงินภาษีของประชาชนเองก็เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุและไม่ตรงจุด ค่าไฟฟ้าแพงเพราะการวางแผนการผลิตพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาลผิดพลาดมาอย่างต่อเนื่อง เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจพลังงานไฟฟ้าของภาคเอกชนบางกลุ่มเกินสมควร ไม่คำนึงหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เกิดปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าหรือมีโรงไฟฟ้าในระบบล้นเกินความต้องการ ปล่อยให้มีโรงไฟฟ้าเอกชนทั้งขนาดเล็กและใหญ่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

ซ้ำยังมีแผนการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นอีก จนภาคผลิตไฟฟ้าเอกชนมีสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงเกือบร้อยละ 70 ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ ขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้าของภาครัฐโดยตรงเหลือเพียงร้อยละ 30

โดยสภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เสนอ 5 ข้อ แก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ดังนี้

  1. ขอให้ตรึงค่า Ft กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วน
  2. ขอให้หยุดการอนุมัติโรงไฟฟ้าเอกชนใหม่ทั้งในประเทศและการนำเข้าจาก สปป.ลาว ซึ่งขณะนี้ไฟฟ้าล้นระบบ ทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐน้อยกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด
  3. ให้รัฐบริหารจัดการต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติ โดยกำกับดูแลให้ ปตท. จัดหาก๊าซธรรมชาติและจำหน่ายให้รัฐวิสาหกิจด้วยกัน
  4. ทบทวนสัญญาไฟฟ้าที่เอื้อเอกชน ในลักษณะมี ค่าความพร้อมจ่าย แบบไม่ใช้ก็ต้องจ่าย
  5. เร่งสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน ด้วยการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน และใช้ระบบการคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วย (Net Metering) ในการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากการใช้งานกลับเข้าสู่ระบบ


ภาพ – กฤติกร จิตติอร่ามกูล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง