ที่ห้องประชุมชั้น 6 อาคาร 4 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.ดร.กมลพรรณ แสงมหาชัย หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางธุรกิจ ภาควิชาการจัดการเทคโนโลยีและการปฏิบัติการ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้อำนวยการหลักสูตร ประกาศนียบัตรผู้นําระดับสูงด้านธุรกิจที่ยั่งยืน KU Change Agent Readiness Executive Program หรือ KU CARE ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รศ.ดร.ศศิวิมล มีอำพล คณบดีคณะบริหารธุรกิจ ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ประธานที่ปรึกษาหลักสูตรฯ และผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมสีเขียวของกระทรวงอุตสาหกรรม และ นางชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ นายกสมาคมศิษย์เก่าคณะบริหารธุรกิจ ในฐานะผู้ร่วมจัดหลักสูตรฯ ร่วมกันแถลงเปิดตัวโครงการหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นําระดับสูงด้านธุรกิจที่ยั่งยืน KU Change Agent Readiness Executive Program หรือ KU CARE
โดยโครงการหลักสูตร KU CARE เปิดให้ผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กรภาครัฐและเอกชน ที่ทำหน้าที่กำหนดวิสัยทัศน์องค์กรมาร่วมอบรมเพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด Bio-Circular-Green หรือ BCG ให้สอดคล้องกับภารกิจเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับพันธสัญญาหรือความยั่งยืน Sustainable Development Goals หรือ SDGs คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ของสหประชาชาติ
การสร้างสรรค์หลักสูตรสำหรับผู้บริหารระดับสูงมาจากความท้าทายของโลกในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยผู้นำองค์กรต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยหลักสูตร KU CARE จะมีวิทยากรระดับประเทศที่เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและต่างประเทศมาร่วมให้ความรู้ในการยกระดับธุรกิจชีวภาพ(Bio-based Model) ให้เป็นธุรกิจหมุนเวียน (Circular Model)เพื่อทำให้ประเทศพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวอย่างแท้จริง
“หลักสูตรนี้เน้นการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง เราไม่เปลี่ยนไม่ได้แล้วเพราะเกิดวิกฤตค่อนข้างเยอะ จุดเด่นของหลักสูตรคือสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กรก่อน ถ้าผู้บริหารระดับสูงเปลี่ยนได้ เชื่อว่าทั้งองค์กรมีโอกาสที่จะเปลี่ยน โดยรูปแบบของหลักสูตรเรียนตามประสบการณ์ ให้วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิระดับท็อปของประเทศ มาแชร์ประสบการณ์ร่วมกันในเรื่องความยั่งยืน การทำธุรกิจที่เป็นในรูปแบบรักษ์โลก โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับท็อปของไทยและแวดวงธุรกิจ อาทิ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงศ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ดร. ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการและกรรมการอิสระ GPSC และผู้บริหารระดับสูงจากหลายองค์กรที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ
สำหรับคุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรม เป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ถ้าเป็นหน่วยงานภาครัฐ ระดับรองอธิบดี ขึ้นไป และภาคเอกชนผู้นำรุ่นใหม่มี อายุ 40 ปีขึ้นไป เป็นหลักสูตรที่อยากให้ทุกคนมาช่วยกันคิดสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับประเทศและโลกใบนี้ แต่ละรุ่นรับ 80-100 คน ระยะเวลาในการอบรม ประมาณ 3 เดือน เริ่มหลังสงกรานต์ 2566 ถึงปลายก.ค.2566 เรียนทุกวันศุกร์ช่วงบ่าย ที่สโมสรราชพฤกษ์ ค่าบำรุงหลักสูตรท่านละ 195,000 บาท ถ้าสมัครก่อนสิ้นเดือน ก.พ.2566 ลดราคา 15% เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทางเว็บไซต์ KUCARE.INFO และเฟซบุ๊ก KUCARE
ด้าน ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ กล่าวว่า หลักสูตรนี้ถือว่าเป็นหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงครั้งแรกของ ม.เกษตรศาสตร์ ที่เชื่อมโยงหลักการบริหารและการดำเนินธุรกิจเข้ากับการเป็นม.เกษตรศาสตร์ โดยม.เกษตรศาสตร์พูดถึงความยั่งยืนมานานแล้ว ปัจจุบันเราใช้คำว่าเกษตรศาสตร์สร้างสรรค์ศาสตร์แห่งแผ่นดินสู่สากลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนอยู่ในวิสัยทัศน์ของเรา เราเน้นเรื่องการเกษตร ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
“ตอนนี้พูดถึงความยั่งยืนระดับโลก เราจึงถอดมาเป็นการใช้งาน ปัจจุบัน ม.เกษตรศาสตร์ มีวิชาที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนในทุกสาขาวิชา มีวิทยาลัยบูรณาการศาสตร์ เราวัดเรื่อง SDGs ในระดับมหาวิทยาลัย พบว่าเราอยู่ในระดับต้นๆทางด้าน SDGs ของโลกก็ว่าได้ Green University ซึ่งเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเราอยู่ในอันดับ1ของประเทศ เราพยายามปลูกฝังนักศึกษาในเรื่องนี้ตลอดเวลา เรามีรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิตและพัฒนาความยั่งยืนโดยเฉพาะ มาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เราเป็นหลักในการร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆทำเรื่องความยั่งยืน ม.เกษตรศาสตร์มีนิสิต 70,000 คน ที่อนาคตจะเป็นผู้นำขององค์กรต่างๆ เป็นเจ้าของกิจการ เป็นผู้นำภาครัฐและเอกชน เพราะฉะนั้นในมหาวิทยาลัยผมจะสร้างบรรยากาศของความยั่งยืนในทุกมิติ ผมต้องเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง
“ม.เกษตรศาสตร์ กำลังทำเรื่องการพลิกโฉมการเปลี่ยนแปลงหลายๆเรื่อง อาทิ การใช้นวัตกรรมมายกระดับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ BCG ให้เข้มแข็งขึ้น หลักสูตรนี้ถ้าเปิดเมื่อไหร่ อยากให้ทุกคนมาเรียนรู้การพลิกโฉมการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนของประเทศ ผมยินดีสนับสนุนและคิดว่าจะส่งรองอธิการบดีมาเรียน 1 คน”อธิบการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวต่อว่า ถ้าโฟกัสเรื่อง SDGs และ BCG หลักสูตร KU CARE เป็นหลักสูตรแรกที่จะพัฒนาผู้นำระดับสูงเพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง เราเป็นมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นมากๆด้าน BCG การเกษตร อาหาร ชีวภาพ และสิ่งแวดล้อม เมื่อผู้นำมาอบรมในหลักสูตรนี้เป้าหมายการเปลี่ยนแปลงเขาต้องกลับไปทำในองค์กรตัวเองให้ยั่งยืน เป็น BCG ก่อน และเป็นผู้นำการถ่ายทอด ภาคเอกชน ภาครัฐ NGO ต่อไปประเทศไทยจะเป็นประเทศที่เข้มแข็งในด้านนี้ในอนาคต โดยหลักสูตรนี้จะมีรุ่นต่อๆไป
“ผมคิดว่าเราต้องเป็นผู้นำระดับโลก แทนที่จะอบรมในประเทศเท่านั้น ต่อไปเราจะต้องเป็นหนึ่งที่เป็นประเทศหลักในด้านนี้ เรามีชื่อเสียงด้านนี้ และเชิญนานาชาติมาอบรมกับเรา ที่ผ่านมานานาชาติหรือระดับโลกยังไม่มีการจัดอบรมหลักสูตรแบบนี้ ผมว่าน่าจะเป็นหลักสูตรที่โดดเด่นของโลก ถ้าเราทำเป็นภาษาอังกฤษและถ่ายทอด เพราะทุกคนอยากเรียนรู้เรื่องนี้ และประเทศไทยก็โดดเด่นด้านนี้ เพราะเรามีฐานจากการเกษตรชีวภาพ เราต่อยอดด้านนี้ทำให้เกิดความยั่งยืน รวมถึงโครงการของในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็โดดเด่น แม้แต่ SDGs ฐานส่วนหนึ่งก็มาจากประเทศไทย อาทิ เศรษฐกิจพอเพียง เรื่องความยั่งยืนที่เราใช้กันอยู่ เราจะต้องสร้างเรื่องนี้ให้มีอิมแพคต่อโลกมากขึ้น
“สถานการณ์ปัจจุบันธุรกิจหรือสินค้าส่งออก ถ้าเราไม่ทำให้เป็นธุรกิจสีเขียว หลายประเทศจะปิดกั้น อาทิ อเมริกา ยุโรป อย่างประมงป่าไม้ถ้าใช้ทรัพยากรไม่ยั่งยืน เขาก็ปิดกั้นเรา หรืออย่างเกษตรถ้าเราทำให้โลกร้อนมากๆ ก็อาจทำให้ถูกแบนได้ในอนาคต กลายเป็นการกีดกันทางการค้าซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ เราจึงต้องเรียนรู้และยกระดับสินค้าให้มีมูลค่าสูงขึ้น เพราะฉะนั้นองค์กรใหญ่ของไทยต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน
“ล่าสุดผมลงนามความร่วมมือร่วมกับ 32 บริษัทระดับโลก เรื่องทำบริษัทให้กลายเป็น Circular Economy Company หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม(มอก.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ทุนวิจัยจากกระทรวงวิทย์ฯ ทำคู่มือการใช้ประโยชน์เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน คิดว่าเดือนส.ค.66 จะได้คู่มือที่เกิดจาก 32 บริษัท เอามาใช้ได้จริง โดยจะพาหลักสูตร KU CARE ไปดูงานด้วย นอกจากนี้จะต้องมีเวิร์กชอป เอามาแชร์และเป็นโมเดลต้นแบบ
“ทั้งนี้องค์กรที่อยากเน้นให้มาเรียนหลักสูตรนี้ คือ 1.ภาคธุรกิจ ชูธงว่าประเทศไทยมีสินค้าที่เป็น BCG เน้นความยั่งยืน และเพิ่มมูลค่า 2.สถาบันการศึกษา สอนคนให้เข้าใจ เรื่อง SDGs และ BCG และ 3.ผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาท อาทิ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาเรียนรู้ว่าเอกชนจะทำได้ไหม หรือทำไม่ได้ตรงไหน เพราะการออกนโยบายควรรู้ว่าเอกชนทำได้หรือไม่ได้ตรงไหน ทั้งนี้หากทำองค์กรให้เป็น BCG ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนไทยไม่มีความเหลื่อมล้ำ มีการศึกษาดี เท่าเทียม อยู่ดีกินดีสมบูรณ์แบบ และทำให้โลกเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีปัญหามลภาวะ”อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าว
ด้าน นางชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนจะเกิดผลกระทบอะไรกับสิ่งแวดล้อมที่ตามมา จากเดิมคิดว่าสิ่งที่เราทำถูกต้องแล้ว ดีแล้ว พอเวลาผ่านไปโลกร้อนขึ้น สิ่งที่เราทำไม่ถูก เกิดมลพิษ ทั้งหมดต้องเปลี่ยนให้กลายเป็นสีเขียว
“เรื่องความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร จะเกิดได้ต่อเมื่อคุณเป็นผู้รอดเท่านั้น ทำให้เกิดเป็นสีเขียว ในการทำสีต่างๆให้กลายเป็นสีเขียว ต้องทำอุตสาหกรรมทั้งประเทศ ทั้งโลก ต้องพยายามไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หรือทิ้งไว้ข้างหลังน้อยที่สุด แต่ในกระบวนการถามว่าเราจะทำได้อย่างไร สิ่งที่เราคิดได้เอามาบรรจุในหลักสูตร KU CARE
“หลายคนได้เรียนรู้จากโลกออนไลน์ แต่ยังไม่เพียงพอในการทำธุรกิจ การที่คุณเอาตัวเองมาอยู่ในหลักสูตรนี้ แล้วเจอคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน เท่ากับว่าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่จะมีเพื่อนฝูงเข้ามาช่วยเหลือ และนำพาในฐานะปัจเจกบุคคลหรือในฐานะบริษัทองค์กร เข้าไปเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นสีเขียวได้ จริงๆ BCG เกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืน แทบจะเป็นเนื้อหาใหม่ หลักสูตรใหม่ ม.เกษตรศาสตร์ เป็นที่แรกๆที่จัด และการันตีได้ว่าเป็นเนื้อหาที่มีคุณภาพอย่างแน่นอน เหมาะกับผู้นำองค์กรทุกท่าน ทั้งภาครัฐและเอกชน”นางชนาพรรณกล่าว