KEY:
- SIPRI รายงานยอดขายอาวุธทั่วโลกเติบโตขึ้นเป็นปีที่ 7 ติดต่อ แม้จะมีปัญหาในการจัดหาวัสดุ-อุปกรณ์ต่าง ๆ คิดเป็นมูลค่า 5.9 แสนล้านดอลลาร์
- คาด หากไม่มีโควิด-19 ยอดขายอาวุธทั่วโลกจะพุ่งสูงขึ้นมากกว่านี้
- สถานการณ์ภายหลังการเปิดการโจมตียูเครนของรัสเซีย ส่งผลกระทบต่อการจัดหาวัสดุ-อุปกรณ์ต่าง ๆ ในการผลิตอาวุธ ของทั้งสหรัฐฯ – ยุโรป และรัสเซีย
- ใน 100 อันดับแรก พบเป็นบริษัทในสหรัฐฯ จำนวน 40 แห่ง มูลค่า 2.99 แสนล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของตลาดค้าอาวุธ
…
สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติ สตอกโฮล์ม หรือ SIPRI ได้รายงานข้อมูลยอดขายอาวุธในรอบปี 2021 จากบริษัทผู้ผลิต-ส่งออกอาวุธที่ใหญ่ที่สุด 100 อันดับแรก โดยพบว่า ในปี 2021 นั้นยอดขายอาวุธมีมูลค่าสูงถึง 5.9 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 1.9% เมื่อเทียบกับปี 2020
โดยการเพิ่มขึ้นของยอดขายอาวุธทั่วโลกนั้นนับเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน ซึ่งแม้ว่ายอดขายในปี 2020-2021 นี้จะเพิ่มสูงขึ้นกว่ารอบปี 2019-2020 แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 4 ปีก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19
สงครามในยูเครนกระทบจัดหาวัตถุดิบ
สถานการณ์ของอุตสาหกรรมอาวุธทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่ง และการขาดแคลนชิ้นส่วน หรือวัตถุดิบที่สำคัญ โดยทางดร. Lucie Béraud-Sudreau ระบุว่า หากไม่มีปัญหาเหล่านี้ ยอดขายอาวุธอาจจะเพิ่มสูงขึ้น
ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เป็นอีกหนึ่งปัญหาเช่นกันที่ส่งผลกระทบต่อบริษัททั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ที่ส่งผลกระทบต่อยอดขายในช่วงปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ การเปิดปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียที่เปิดฉากการโจมตีต่อยูเครนเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ส่งผลให้การจัดหาวัสดุ – วัตถุดิบต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมอาวุธได้รับผลกระทบเช่นกัน และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ก็กลายเป็นปัญหาในการที่สหรัฐฯ และยุโรปต้องการเสริมสร้างความมั่นคงในกองทัพ ในความพยายามที่จะต้องเสริมอาวุธในคลัง เพื่อทดแทนกับจำนวนที่ลดลงจากการจัดส่งไปสนับสนุนการสู้รบในยูเครน มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
ซึ่งการเพิ่มอาวุธในคลังนั้น จำเป็นต้องใช้เวลา และอาวุธบางชนิดต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่ผู้ผลิตจะตอบสนองความต้องการได้อย่างเพียงพอ – ดร. Diego Lopes da Silva นักวิจัยอาวุโสของ SIPRI กล่าว
ในขณะที่รัสเซียเองมีความพยายามในการเพิ่มกำลังการผลิตจากสู้รบที่เกิดขึ้น แต่รัสเซียเอง ก็ประสบปัญหาในการเข้าถึงเซมิคอนดักเตอร์ จากการคว่ำบาตรของชาติต่าง ๆ
บริษัทของสหรัฐฯ ยังครองสัดส่วนจำนวนมากไว้ได้ แต่..
ใน 100 บริษัทแรกของยอดขายอาวุธทั่วโลกมาจากบริษัทในสหรัฐฯ จำนวน 40 แห่ง คิดเป็นมูลค่ารวมราว 2.99 แสนล้านดอลลาร์ แต่ยอดขายที่เกิดขึ้นในปี 2021 นั้นมีแนวโน้มที่ลดลง จากปี 2020 ราว 0.8%
ในขณะที่ยอดขายอาวุธของบริษัทในยุโรปเพิ่มขึ้นราว 4.2% เมื่อเทียบกับปี 2020 คิดเป็นมูลค่าราว 1.23 แสนล้านดอลลาร์ แต่ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมการต่อเรือ ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและอวกาศนั้นลดลง
สำหรับในตลาดเอเซียนั้น มีจำนวน 21 บริษัท มูลค่า 1.36 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่า 5.8% เมื่อเทียบกับปี 2020 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตอาวุธของจีนจำนวน 8 บริษัท ที่สร้างยอดขายได้มากกว่า 1.09 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 6.3% ซึ่งบริษัทในจีนได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในบริษัทที่เป็นผู้ผลิตเรือรบที่ใหญ่ที่สุดในโลก หลังมีการควบรวมกิจการของ China State Shipbuilding Corporation (CSSC)
ส่วนบริษัทผู้ผลิตอาวุธในเกาหลีใต้จำนวน 4 แห่งที่เข้ามาติดใน 100 อันดับแรก รวมมูลค่าราว 7.2 พันล้านดอลลาร์ เติบโตขึ้นราว 3.6% เมื่อเทียบกับปี 2020 โดยเฉพาะบริษัท Hanwha Aerospace ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในภูมิภาค และคาดว่า น่าจะเติบโตขึ้นอีก ภายหลังการลงนามข้อตกลงด้านอาวุธกับโปแลนด์
แนวโน้มอื่น ๆ
- บริษัทอาวุธของรัสเซีย 6 แห่งติดอยู่ใน 100 อันดับแรก มูลค่ารวม 1.78 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเพียง 0.4% เท่านั้น
- 5 บริษัทในตะวันออกกลาง มียอดขายอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 6.5% ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่ค่อนข้างรวดเร็วที่สุด
- ยอดขายของบริษัทผู้ผลิตอาวุธในญี่ปุ่นมีมูลค่าอยู่ราว 9 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 1.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน
- ไต้หวัน หนึ่งบริษัทที่เข้ามาติดใน 100 อันดับแรก คือ NCSIST เป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์
ที่มา – https://www.sipri.org/media/press-release/2022/arms-sales-sipri-top-100-arms-companies-grow-despite-supply-chain-challenges