KEY :
- พ.ร.ก. ลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา
- เพื่อสนับสนุนให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
- โดยมีการปรับลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้าถึง 80%
…
พระราชกฤษฎีกา ลดภาษีประจำปีสำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สาระสำคัญให้ลดภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นรถใหม่สำเร็จรูปจากโรงงาน ที่จดทะเบียนภายในระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ โดยภาษีประจำปีจะลดลงร้อยละ 80 ของอัตราที่กำหนดตาม (11) ของอัตราภาษีประจำปีท้ายพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 และกำหนดให้ลดภาษีเป็นระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่รถนั้นจดทะเบียน
เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมถึงกระตุ้นระบบเศรษฐกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ
สำหรับภาษี ป้ายทะเบียน ก็คือภาษีที่เจ้าของรถต้องจ่ายทุกปีกับ กรมขนส่งทางบก ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้เจ้าของจ่ายน้อยลง หรือประหยัดเงินได้ เพราะลดให้ถึง 80% แต่ต้องเป็นเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่จดทะเบียนระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 – วันที่ 30 กันยายน 2568
แล้วประหยัดได้เท่าไหร่ ?
สำหรับในการปรับแก้ไขลดภาษีนั้น มีการปรับลดในหลายส่วน เช่น
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน น้ำหนักรถ 1,501-1,750 กิโลกรัม เสียภาษี 1,300 บาท ก็จะเหลือเพียง 260 บาท หรือ
- รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ขนาดใหญ่สุด น้ำหนักรถ 7,001 กก. ขึ้นไป เดิมเคยเก็บที่ 3,600 บาท ปรับลงมาเหลือ 720 บาท เป็นต้น ซึ่งจริงๆ แล้ว รถยนต์ไฟฟ้ามีหลายขนาด
โดยข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก พบว่า มีประชนจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า ล่าสุดเดือนตุลาคม ปี 2565 ล่าสุดมีกว่า 1960 คัน ส่วนปี 64 มีจำนวน 5889 คัน